ข่าว

ไม่แปลกใจ ถ้าญี่ปุ่นไม่ร่วมทุน“ชินคันเซ็น”กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สามารถ" ไม่แปลกใจ หากญี่ปุ่นไม่ร่วมลงทุน "ชินคันเซ็น" รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เชื่อไม่อยากแบกรับความเสี่ยงร่วมก้บไทย เหตุผลตอบแทนไม่คุ้มลงทุน

 

          19 ก.พ. 61 - นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" ว่า ตนไม่แปลกใจที่มีข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แม้กระทรวงคมนาคมจะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว และยังไม่มีการเจรจาเรื่องการลงทุนแต่อย่างใด แต่ตนเคยเขียนวิเคราะห์เรื่องนี้ "ฟันธง! ไฮสปีดเชียงใหม่ ญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุน" เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 58 โดยสรุปได้ว่า การศึกษาความเป็นได้ของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็น ทั้งโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลลัพธ์ตรงกันว่า ผลตอบแทนทางการเงิน ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน ตนจึงคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยแน่นอน เพราะไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงร่วมกับรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้รัฐบาลไทยกู้เงิน รวมทั้งจะรับเหมาก่อสร้าง ขายขบวนรถไฟ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

          นายสามารถ ระบุอีกว่า ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นตัวอย่างการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน แต่ไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% โดยจีนไม่ต้องร่วมลงทุนเลย แต่จีนรับจ้างก่อสร้างงานบางส่วนที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด อีกทั้ง จีนจะขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ จีนไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงขาดทุน และในกรณีนี้ จะทำให้จีนได้เส้นทางเชื่อมกับลาว แม้ว่าเส้นทางนี้จีนจะได้รับประโยชน์ด้วย แต่เขาก็ไม่ต้องร่วมลงทุน ดังนั้น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นไม่ได้รับประโยชน์จากเส้นทางนี้เลย แล้วจะมีเหตุผลใดที่ญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้ความไม่พร้อมของรัฐบาลไทยในการก่อสร้างชินคันเซ็น ได้แสดงออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ เช่น ต้องการลดความเร็วสูงสุดของชินคันเซ็นจาก 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือเพียง 180-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง กลายเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง หรือต้องการลดจำนวนสถานีระหว่างทางลง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดค่าก่อสร้าง

         นายสามารถ ระบุด้วยว่า ตนอยากเห็นชินคันเซ็น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่เป็นรถไฟความเร็วสูงจริงๆ พร้อมทั้งมีจำนวนสถานีที่เหมาะสม และที่สำคัญ จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานี และพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นเมืองใหม่ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์ราชการ เมืองอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น มีการซื้อขายมากขึ้น และมีจำนวนผู้โดยสารชินคันเซ็นเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดเวลาการเดินทาง ลดการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และลดอุบัติเหตุจราจร หากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ ถึงแม้ว่าชินคันเซ็นจะให้ผลประโยชน์ทางตรงในรูปแบบรายได้จากค่าโดยสารไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนก็ตาม แต่ก็จะช่วยให้เได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดที่มีชินคันเซ็นผ่านรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง รัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น

          "ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่อยากให้รัฐบาลถอดใจ แต่อยากให้รัฐบาล เดินหน้าก่อสร้างชินคันเซ็นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้ได้ แม้ว่าเราจะต้องลงทุนเองทั้งหมดก็ตาม แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าไม่มีความพร้อมทางการเงินก็ควรชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะมาสานต่อ ส่วนรัฐบาลนี้ก็ควรเร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ และเตรียมการต่อขยายเส้นทางไปถึงหนองคายเพื่อเชื่อมโยงกับจีนให้ได้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่สมบูรณ์แบบสักเส้นทางหนึ่งก่อน และที่สำคัญ จะต้องเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด การทำเช่นนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาล"นายสามารถ ระบุ.

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ