ข่าว

กต.แจงคืบหน้าแก้ไขปัญหาไอยูยู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กต.แจงคืบหน้าแก้ไขปัญหาไอยูยู เผยผลจับกุมผู้กระทำผิด  4,256 คดี  นำเรือผิดกฎหมายออกจากระบบ กว่า 20,000 ลำ   ยันเอาจริงผู้ใช้ประโยชน์จากช่องวางทางกฎหมาย

         1 ก.พ.61 นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง รองอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหา การป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ว่าตั้งแต่ปีพ.ศ.2558จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดีและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายประมง จำนวน 4,256 คดี สามารถนำเรือผิดกฎหมายออกจากระบบได้กว่า 20,000 ลำ

         ด้านภาคแรงงานประมง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สามารถดำเนินคดีได้ 85 คดี ช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบได้ 408 คน และจับกุมผู้ต้องหาได้ 213 คน สำหรับคดีที่เป็นที่สนใจในสื่อต่างประเทศ คือ คดีค้ามนุษย์ลังลอง ซึ่งทางการไทยได้ดำเนินการติดตามและเร่งรัดคดีมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาให้ข่าวเนื่องจากไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อการสืบสวน โดยขณะนี้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว โดยหลอกแรงงานชายชื่อ "ลัง ลอง" ว่าจะให้ทำงานแปรรูปอาหารสัตว์แต่สุดท้ายถูกบังคับให้ไปทำงานบนเรือนานกว่า 2 ปี โดยล่าสุดศาลพิพากษาจำคุก 4 ปีฐานฆ่านายลัง ลอง และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท

           ส่วนสถิติการจับกุมเรือต่างชาติที่เดินเรือเข้ามาลักลอบทำประมงในน่านน้ำไทย ตั้งแต่เดือนส.ค. 2558 จนถึงปัจจุบัน  สามารถจับได้ 184 ลำ ซึ่งล่าสุดที่เพิ่งจับกุมได้นั้น เป็นเรือขนาดเกิน 100 ตันกรอส ซึ่งมีอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม อาทิ ใช้ไฟแรงส่องลงไปในน้ำ ทำให้ปลาตายทันที และอุปกรณ์จับปลาด้วยไฟฟ้า หลังจากนี้จะรีบรวบรวมหลักฐานให้กรมประมงตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน

          ขณะที่ การเดินเรือเพื่อทำประมงนอกน่านน้ำไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าสิ้นสุดแล้วเช่นกัน โดยจำเลยทั้ง 3 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดทำประมงนอกน่านน้ำไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำเลยที่ 1 ปรับ 65 ล้านบาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน ปรับ 65 ล้านบาท และจำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี 5 เดือน ทั้งนี้ เครื่องมือทำประมงจะถูกยึดทั้งหมด เรือจะถูกขายทอดตลาด และนำเงินมาเป็นงบประมาณแผ่นดิน ส่วนปลาห้ามประมูลหรือขายทอดตลาด จึงจะนำไปบริจาคแก่ผู้ยากไร้

          สำหรับคดีที่เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ คือเรือโชติชัยนาวี 35 สัญชาติจิบูตี ประเทศโซมาเลีย มีใบอนุญาตทำประมงของรัฐพุนแลนด์ ประเทศโซมาเลีย ขนาด 398 ตันกรอส กระทำความผิดฐานจับปลานอกน่านน้ำไทย จำนวน 448,000 กิโลกรัม(เกินกว่ากำหนดที่ได้รับอนุญาต 200,000 กิโลกรัม) และขอเข้าเทียบท่าที่จ.สมุทรสาคร ภายหลังได้รับการตรวจสอบ พบว่า ฝ่าฝืนกฎหมายประมงและไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางโซมาเลีย รวมถึงใช้อุปกรณ์ทำประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงถือว่ามีความผิดในการทำประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 1-30 ล้านบาท หรือ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ โดยเจ้าหน้าที่จะนำสำนวนทั้งหมดให้อัยการส่งฟ้องในวันพรุ่งนี้ และสัตว์น้ำทั้งหมดจะนำไปแจกแก่ผู้ยากไร้ตามกฎหมายกำหนดต่อไป

           นอกจากนี้ ยังมีกรณีของเรือโชติพัฒนา 51 และ เรือโชติพัฒนา 55 ที่ได้รับแจ้งจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ.และญาติ ว่ามีแรงงานไทยเป็นลูกเรือประมง จำนวน 57 คน โดย 40 คนได้แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศไทย แต่ได้ดำเนินการพาลูกเรือกลับประเทศไทยได้ 35 คน ในวันที่ 13 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา ส่วนอีก 5 คน บริษัทขอให้อยู่ต่อ รวมเหลือลูกเรือ 22 คน จากนั้นเรือได้ออกเดินทางไปยังมัลดีฟส์ และถูกจับกุมอีกครั้ง 

         โดยเบื้องต้นได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมัลดีฟส์เพื่อเข้าถึงลูกเรือไทยและมอบเครื่องบรรเทาทุกข์ก่อนประสานงานตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือลูกเรือ ซึ่งขณะนี้สอบปากคำครบแล้วทั้ง 22 คนเมื่อวานนี้ อยู่ระหว่างตำรวจมัลดีฟส์รวบรวมสำนวนส่งอัยการเพื่อดูว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ หากไม่ส่งฟ้องก็จะดำเนินการช่วยลูกเรือไทยกลับประเทศต่อไป ทั้งนี้ ได้ดำเนินการส่งกลับบ้านแล้ว 1 คน เนื่องจากมีภาวะเครียดส่งผลต่อสุขภาพ ส่วนอีก 21 คน แข็งแรงดี

          โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าประเทศเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาไอยูยูด้วยการใช้กฎหมายไทยจัดการกับผู้ใช้ประโยชน์จากช่องวางทางกฎหมาย และดำเนินการเอาผิดกับคนเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีและและภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องปราม ผู้ประกอบการที่หลีกเลี่ยงกฎเข้มงวดเพื่อกระทำความผิด ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจะตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ในการดูแลเรือเข้า-ออกน่านน้ำไทยต่อไป 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ