ข่าว

เมาแล้วขับ 7 วันอันตราย ศาลสั่งคุมประพฤติ 6,677 คดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุมประพฤติ สรุปยอดเมาแล้วขับ  7 วันอันตราย ศาลสั่งคุมประพฤติ 6,677 คดี เมาแล้วขับกว่า  90.31% สุรินทร์ครองแชมป์ พบคนทำผิดซ้ำ  99 ราย อาจต้องส่งเข้าครอสเลิกเหล้า

           กรมคุมประพฤติ-8ม.ค.61-คุมประพฤติ สรุปยอดสถิติเมาแล้วขับ  7 วันอันตราย ศาลสั่งคุมประพฤติ 6,677 คดี เมาแล้วขับกว่า  90.31% สุรินทร์ครองแชมป์ประเทศ  พบคนทำผิดซ้ำ  99 ราย อาจต้องส่งเข้าครอสเลิกสุรา  ด้าน "เหยื่อเมาแล้วขับ" เปิดใจชีวิตลำบากเพราะตกเป็นเหยื่อสังคมคนเมา หวังรัฐผลักดันงานบริการสังคมช่วยเหลือคนพิการสร้างจิตสำนึกลดละเลิกเหล้า

          นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ  แถลงยอดคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติตามพ.ร.บ.จราจรทางบก  7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,841 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต  423 ราย  มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 119 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 6,677 คดี เป็นคดีทำผิดกฎจราจร ขับรถขณะเมาสุรา 6,030 คดี ร้อยละ 90.31เปอร์เซ็นต์ ขับเสพและอื่นๆ 602 คดี หรือร้อยละ 9.01 และขับรถประมาท45 คดี  ซึ่งพื้นที่ที่มีการถูกคุมประพฤติมากที่สุดคือ จ.สุรินทร์ 448 คดี กรุงเทพ 354 คดีและมหาสาคาม 269 คดี นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติในคดีขับรถขณะเมาสุราและขับรถประมาทที่พ้นโทษในช่วงปี  2558-2560 กลับมากระทำผิดซ้ำสูงขึ้น 99 ราย ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้มีการกำหนดระยะเวลาคุมประพฤติ 1-2 ปี ทำงานบริการสังคมเฉลี่ย 21 ชม. (ต่ำสุด 12 ชม สูงสุด 72ชม.)  มีกำหนดรายงานตัว 4 ครั้ง และเงื่อนไขอื่นๆ ทั้งการอบรมจราจร  พักใช้ใบอนุญาตขับขี่  ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยครั้งนี้ศาลมีคำสั่งพักใบอนุญาตจำนวน 295 ราย

         เมาแล้วขับ 7 วันอันตราย ศาลสั่งคุมประพฤติ 6,677 คดี

          "จากสถิติ คดีเมาแล้วขับในปี 61 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 60 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้มงวดในการตรวจจับ  สะท้อนจากตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บที่มีจำนวนน้อยลงจากปีก่อน ตัวเลขการจับกุมคนเมาแล้วขับที่สูงขึ้นไม่ได้สะท้อนว่ามีคนดื่มเหล้าเพิ่มมากขึ้น แต่ชี้ให้เห็นถึงความเข้มงวดของภาครัฐ หลังจากนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือเพื่อวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับในช่วงสงกรานต์ต่อไป  "อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว

           อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการกลุ่มผู้กระทำความผิดซ้ำและกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในคดีขับรถขณะเมาสุรา จะให้ทำงานบริการสังคม โดยเน้นการดูและช่วยเหลือเหยื่อเมาแล้วขับที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และหากมีพฤติกรรมติดสุราก็จะส่งตัวให้กรมสุขภาพจิตนำเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิก ดื่มสุรา หรือเข้าครอสเลิกสุรา ซึ่งกรมคุมประพฤติจะทำแบบประเมินความเสี่ยงว่ากลุ่มไหนควรได้รับการดูแลอย่างไร โดยแบบประเมินความเสี่ยงจะใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติทุกกลุ่มที่ศาลมีคำสั่ง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการนำกำไลอิเล็คทรอนิคส์มาใช้ควบคุมความประพฤติของทุกกลุ่มและทุกฐานความผิด คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้เดือน พ.ค. 61แต่ปัญหาขณะนี้คือผู้ถูกคุมประพฤติมีมากกว่ากำไลอิเล็คทรอนิคส์ ดังนั้น ต้องรอคำสั่งศาลว่าจำเป็นต้องใช้กำไลกับผู้ถูกคุมประพฤติรายใดบ้าง

       เมาแล้วขับ 7 วันอันตราย ศาลสั่งคุมประพฤติ 6,677 คดี

          ด้านนายเจษฎา แย้มสบาย (ผู้พิการ) ตัวแทนเครือข่ายเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเป็นเหยื่อของผู้ขับรถขณะเมาสุรา  ทั้งที่ตนไม่เคยดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ แค่จอดรถติดไฟแดงแล้วถูกคนเมาขับรถมาชน จนทำให้กลายเป็นผู้พิการนานกว่า 15 ปี จากที่เคยทำงานมีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน ต้องรับสภาพการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่บ้านเป็นภาระครอบครัว อีกทั้งยังต้องรับประทานยาต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายยาวันละ 100 บาท หากเป็นคนพิการตั้งแต่เกิดก็คงทำใจได้ แต่มาเป็นคนพิการเพราะถูกกระทำจากสังคมนักดื่ม ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลผลักดันหรือมีโครงการให้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเมาแล้วขับได้รวมตัวกันออกมาทำกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึก  และให้ผู้ถูกคุมประพฤติทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้พิการนอกเหนือจากการช่วยเหลือผู้ป่วยที่โรงพยาบาล เพราะเป็นโครงการที่ดีทำให้รับรู้ความรู้สึกของเหยื่อที่ถูกกระทำ ขณะที่ผู้พิการได้ประโยชน์ที่มีคนมาช่วยดูแล ปัจจุบันคนพิการในกทม.ที่เป็นเหยื่อเมาแล้วขับมีเพิ่มมากขึ้นกว่า 1,000 ราย  บางรายเป็นผู้ป่วยติดเตียงใช้ชีวิตลำบากมาก เดินทางออกนอกบ้านก็ลำบาก รถแท็กซี่ไม่อยากรับ ตนก็เลือกเป็นจิตอาสาเข้ามาช่วยคนป่วยทั้งที่ตนเองเป็นคนพิการ เพื่อทำให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีค่า และอยากเตือนผู้ที่เมาแล้วขับว่า หากดื่มเหล้าเมาอย่ามาขับรถ

           ทางด้านนายพักดี สอนประเทศ ผู้ถูกคุมประพฤติจากคดีเมาแล้วขับ กล่าวว่า หลังถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ตนไมได้กลับไปดื่มสุราอีกเลย เมื่อได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับผู้พิการที่เป็นเหยื่อเมาแล้วขับทำให้รู้สึกสงสาร บางรายพิการจนมือใช้การไม่ได้ต้องคอยป้อนอาหาร ทำให้สำนึกผิดและคิดว่าตนเองโชคดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุจนกลายเป็นคนพิการ และโชคดีที่ไม่ได้ขับรถไปชนใคร  เมื่อเข้าไปทำงานบริการสังคมช่วยเหลือผู้พิการพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป เลิกดื่มเหล้าและไม่เที่ยวเด็ดขาด  โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ตนถูกจับและคุมประพฤติในคดีเมาแล้วขับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ