ข่าว

ศาล ตั้งเป้า ช่วยคนจน ได้ประกันคดีอาญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาล ลุยแบบประเมินความเสี่ยง ไร้หลักทรัพย์ยื่นประกัน-ปี 61 พร้อมใช้ ก.ม.สินบนจับพวกหนีคดี รอแค่ ก.คลังอนุมัติวิธีจ่ายเงิน ส่วน Court Marshal รอหน่อยเชื่อเกิดได้

         3 ม.ค.61- “นายสราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงการเดินหน้าคุ้มครองสิทธิผู้มีฐานะยากจนกับระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ยื่นสำหรับคดีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีว่า ระบบนี้เราเพิ่งเริ่มใช้ไป เมื่อเดือน มี.ค.60 ที่ผ่านมา ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการประเมินว่าได้ผลหรือไม่ เพราะเป็นแนวความคิดใหม่ที่จะใช้ฐานข้อมูลมา ประเมินว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ดีการที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวก็ไม่ได้มีปัญหาจากสาเหตุว่าเขาไม่มีเงินเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งมีเงินร้อยล้าน พันล้านศาลก็ไม่สามารถปล่อยตัวได้เช่นกัน เช่น คดีค้ายาเสพติดที่จะเรียกเงินประกันเท่าใดก็มีเงินมาวางแต่ศาลจะไม่ปล่อยเพราะเชื่อว่าเขาจะหลบหนี ขณะที่ระบบปะเมินความเสี่ยงนั้นถ้าผู้ที่ได้ปล่อยตัวไปแล้วยังหลบหนี ศาลก็มี ก.ม.ใหม่ คือ พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 ที่ผ่าน สนช. และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ออกระเบียบแล้ว ก็มีมาตรการให้ศาลแต่งตั้งผู้กำกับติดตาม ดูแลผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวและมีเงินรางวัลจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้ด้วยเมื่อติดตามจับกุมผู้ที่หลบหนีได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับวิธีการจ่าย และเม็ดเงินในการจ่ายด้วย ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2560 นี้จะเรียบร้อย โดยปี 2561 ก.ม.นี้ก็จะเริ่มใช้ได้อย่างสมบูรณ์ 

         ดังนั้นตรงนี้จะเป็นกลไกหรือเครื่องมืออันหนึ่งที่ศาลจะใช้ในการปล่อยชั่วคราวด้วย ศาลจะสบายใจมากขึ้นเมื่อมีระบบตัวช่วย เช่น กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ EM (Electronic Monitoring) หรือมีผู้ช่วยเหลือในการติดตามแล้วมีรายงานว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่ ซึ่งต่างประเทศก็ใช้อย่างคดีนายราเกซ สักเสนา ตอนที่อยู่ประเทศแคนาดา ก็ใช้กลไกเหล่านี้แต่นายราเกซ เป็นคนจ่ายเองในการให้มีบริษัทเอกชนหรือเจ้าหน้าที่เอกชนมาควบคุมดูแลตรงนี้โดยของไทยก็มีกลไก ตาม พ.ร.บ.การติดตามฯ ตัวนี้บังคับใช้แล้วเหลือเพียงแค่รอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

         “กฎหมายวางระบบอยู่แล้ว เพื่อเปิดช่องทางให้ช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส เพียงแต่ทำอย่างไรจะให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน ก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมในการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนการปล่อยชั่วคราวหลักการใหญ่ ก็คือ ต้องการให้ได้ตัวมาเมื่อถึงวันนัดตัวก็ต้องมาขึ้นศาล แล้วศาลพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเราต้องการที่จะได้เงินจากผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่เราต้องการที่จะได้ตัวคนมาขึ้นสู่การพิจารณาในวันนัดเป็นหลัก” 

       เมื่อถามว่า ถ้ามาตรการปล่อยชั่วคราวลักษณะนี้ใช้ได้แล้ว จะมีผลกับคดีนักการเมืองในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ 

       “นายสาวุธ” กล่าวว่า ตอบยากเพราะขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แต่ละคน อย่างเคสต่างประเทศกรณีนายราเกซ สักเสนา เขาก็กำหนดให้มีบริษัทเอกชนมากำกับดูแล ควบคุม แต่มีแล้วจะไม่หนีเลยก็คงไม่ใช่การการันตี 100 % เพราะเป็นการเพิ่มมาตรการความเข้มข้น ส่วนการติดตามตัวโดยจะให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะอย่างตำรวจศาล หรือ Court Marshal เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจังนั้น ตนก็เชื่อว่าในอนาคตสังคมเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงก็คงมี เทียบในอดีตแยกศาลออกจากฝ่ายบริหารก็เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่ามีการเสนอแนวทางมาเป็นเวลานาน 20-30 ปีแล้วมาสำเร็จในปี 2543 ส่วนแนวคิดเรื่อง Court Marshal ก็มีมานานแล้ว 10-20 ปี เช่นกัน แต่วันนี้ก็อาจมีหลายปัจจัยเป็นส่วนเกื้อหนุนให้เห็นว่าถึงเวลาและมีความจำเป็นแล้วหรือยัง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ