ข่าว

ศาลปกครองกลางนำร่อง พัฒนา E-Court ทำห้องไต่สวนอิเล็กทรอนิกส์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รรท.เลขาฯศาล" เผยปธ.ศาลปกครอง เน้นพัฒนาศาลอัจฉริยะ ใช้ IT-คิวอาร์โค้ดสแกนสำนวน เสริมประสิทธิภาพจัดการคดี-บริการ ปชช.รวดเร็ว ตามทันไทยแลนด์ 4.0 งานได้ผล คนมีสุข

          2 ม.ค.61 - “นายอติโชค ผลดี” รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการเลขาธิการฯ กล่าวถึงแผนงานของศาลปกครองในปี ใหม่ 2561 ว่า ตัวโฟกัส คือนโยบายและทิศทาง ตามที่นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เคยประกาศไว้ว่า “ปี 2561 เป็นปีแห่งการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและบริการประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์” โดยภารกิจของศาลคือการพิพากษาด้วยความเป็นธรรม รวดเร็วและวางหลักกฎหมายปกครองเป็นบรรทัดฐาน ส่วนสำนักงานศาลปกครอง ก็สร้างกรอบแนวคิดกำหนดการทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายผู้บริหารศาล การปรับเปลี่ยนเพื่อให้รองรับการทำงานเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ และการรวมพลังเสริมสร้างองค์กรแห่งความสุข เพื่อจะสนับสนุนงานอำนวยความยุติธรรมของศาลภายใต้วิสัยทัศน์ “งานได้ผล คนมีความสุข"

        โดยเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ศาลปกครองขณะนี้ คือ การผลักดันบริหารงานด้วยระบบ IT และพัฒนาศาลปกครองไปสู่การเป็นศาลอัจฉริยะ หรือ E-Court (Excellence Court) การมุ่งเน้นการบริหารงานยุคใหม่ที่มีมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งเร่งรัดการพิจารณาคดีค้างนานเกิน 2 ปีให้แล้วเสร็จในปี 2561 คดีเข้าใหม่ให้เป็นไปตามกรอบเวลามาตรฐาน และเร่งรัดบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองโดยเร็ว

ศาลปกครองกลางนำร่อง พัฒนา E-Court ทำห้องไต่สวนอิเล็กทรอนิกส์

        ซึ่งภารกิจแรกในการอำนวยความสะดวกประชาชนที่มีคดีความที่ผ่านมาก็เปิดโครงการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม ธ.กรุงไทยฯ รูดชำระค่าปรับ ค่าธรรมเนียมศาลได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารก็เริ่มทยอยทำระบบในศาลปกครองตามภูมิภาคแล้ว ก็กำลังพัฒนาโปรแกรมเรื่องการติดต่อหน่วยงานด้วยจากเดิมที่ใช้บัตรประชาชนแลกบัตรเข้า-ออก และแสดงบัตรอีกหลายขั้นตอน ศาลก็จะพัฒนาให้สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงบัตรเดียวเชื่อมระบบทั้งหมดตั้งแต่เข้ามา ก็จะเป็นการสแกนจัดเก็บข้อมูลจากบัตรประชาชนไว้ และเวลานี้กำลังพัฒนาถึงขั้นว่าถ้าหากประชาชนจะเข้ามาติดต่อฟ้องคดี หรือตามคดี ก็สามารถที่จะโทรศัพท์เข้ามาแล้วหากชัดเจนมีการนัดหมายคดีไว้ เราก็จะอำนวยความสะดวกจัดที่จอดรถไว้ให้ด้วยซึ่งส่วนนี้จะการพัฒนาของศาลในส่วนกลาง เพราะในภูมิภาคไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องที่จอดรถเกิดขึ้น ก็เรียกได้ว่าสำนักงานศาลปกครองพยายามจะพัฒนาระบบในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน คู่ความ ตั้งแต่เดินเข้ามาศาล จนถึงข้อมูลคดี

        ส่วนการพัฒนาเป็นศาลอัจฉริยะ หรือ E-Court สำนักวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็กำลังศึกษาระบบและเทคโนโลยีเพิ่มที่จะรองรับการเป็น E-Court เช่น การจัดปรับปรุงห้องไต่สวนเดิม ให้เป็นห้องไต่สวนอิเล็กทรอนิกส์ ( E-Court Room) แบบนำร่องก่อน 1 ห้องในศาลปกครองกลาง ที่จะติดตั้งระบบ IT ใช้เทคโนโลยีในการแสดงผลคดีให้องค์คณะ , ตุลาการ และพนักงานคดีปกครอง สะดวกในการเรียกดูข้อมูลที่อยู่ในสำนวนด้วยความรวดเร็วซึ่งเดิมจัดเก็บแบบเอกสารเย็บเล่มหนาเป็น 100 ร้อยต้องเวลาเปิดอ่าน โดยการเก็บข้อมูลนั้นจะมีเซิร์ฟเวอร์กลางเป็น Big Data เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อพร้อมนำเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับได้ในทันทีแบบรวดเร็ว ด้วยการใช้คำสำคัญ คีย์เวิร์ด ซึ่งองค์คณะ , ตุลาการ และพนักงานคดีปกครอง ที่ดูแลสำนวน จะได้ดูเรียกข้อมูลได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยสำนักวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็กำลังดำเนินการซึ่งตามแผนจะพร้อมปลายปี 61 หากห้องไต่สวนอิเล็กทรอนิกส์นำร่องนี้ ถ้าทดลองแล้วสำเร็จก็จะทำหมดทุกห้องเลยในศาลส่วนกลาง และการยื่นฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Filling โดยเป็นทางเลือกให้คู่กรณีสามารถยื่นและส่งเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องได้โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล ซึ่งเราได้ทำเป็นแผนไว้เลยว่าจะติดตั้งระบบเดือน มี.ค.61 แล้วเริ่มทดลองใช้เดือน ก.ย.61 ขณะที่โครงการจะเริ่มที่ศาลปกครองกลางเพียงแห่งเดียวก่อน

          นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในสำนวนคดี (e-Records) คือการใช้เทคโนโลยีสแกนเอกสารมาสนับสนุน การจัดเก็บ การนำเข้า (upload) เอกสารพยานหลักฐานในสำนวนคดี หรือการ upload ไฟล์ที่คู่กรณีนำมายื่นต่อศาล ก็จะทดลองใช้กับศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดก่อนช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2561 รวมถึงการปรับปรุงโปรแกรมบนเว็บศาลปกครองเกี่ยวกับระบบบังคับคดีในส่วนของการยึด อายัด ขายทอดตลาด ที่เริ่มใช้ช่วงไตรมาสที่ 2 เช่นกัน และการออกแบบพัฒนาใช้ระบบคิวอาร์โค้ดสแกนทั้งบนสมาร์ทโฟนระบบ IOS กับแอนดรอย (Android) ในการยืมและคืนสำนวน ซึ่งจะช่วยเหลือเรียกดูข้อมูลคดีได้ง่ายและสะดวกขึ้นบนแอพพิเคชั่นมือถือ ขณะเดียวก็กำลังแก้กฎหมายให้รองรับระบบ E-Court เพื่อให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้ภายในปี 2561

         ขณะที่ส่วนของประชาชน ยังจะมีการพัฒนาแอพพิเคชั่นของศาลปกครองบนมือถืออย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ทั้งการสามารถสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งศาลปกครอง การสร้างบัญชีของตนเองเพื่อเก็บคำพิพากษา หรือการขอคัดรับรองคำพิพากษาที่ต้องการ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารบัญชีนัดของศาลที่ตนเองเกี่ยวข้องได้

         “ระบบ E-Court ที่เกี่ยวกับสำนวนคดีเป็นเรื่องภายในขององค์คณะ ตุลาการ และพนักงานคดีปกครอง ส่วนประชาชนจะเป็นเรื่องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีว่าอยู่ถึงขั้นตอนใดแล้ว ประธานศาลปกครองสูง เน้นเรื่องการเป็น E-Court เพราะต้องก้าวให้ทันกับสภาพที่ปรับไปของทั้งต่างประเทศและภาครัฐของเราเองที่รัฐบาลประกาศเป็นไทยแลนด์ 4.0” นายอติโชค รรท.เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง กล่าวและว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ เราพยายามทำด้วยบุคลากรของเราเอง แม้งบประมาณจะจำกัดแต่เราพยายามใช้บุคลากรให้เต็มที่ ซึ่งเขาก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรในการอำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นทั้งในกระบวนการของศาล เรื่องการพิจารณาคดี พร้อมกับการให้ความสำคัญจัดความสะดวกกับประชาชน

        "นายอติโชค" กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาของภูมิภาคในการให้บริการประชาชนโดยตรงยังไม่พบข้อจำกัดเท่าใดนัก เรื่องการติดต่อหรือหาที่จอดรถการจราจรในภูมิภาคก็ไม่ได้คับคั่งเหมือนใน กทม. อีกประการ คือ คนที่มานยื่นฟ้องคดีมีจำนวนน้อยกว่าส่วนกลาง แต่เราพยายามขยายและพัฒนาระบบ IT ถึงศาลภูมิภาคทั้งหมดให้เหมือนกับศาลส่วนกลาง โดยภายในปี 2561 ระบบ IT จะได้รับดำเนินการเหมือนกัน จะไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่บางเรื่อง เช่น กรณีห้องไต่สวนอิเล็กทรอนิกส์ จะทดลองใช้ในศาลส่วนกลางก่อน เพราะมีเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากผลได้ประสิทธิภาพจึงจะขยายผลต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ