ข่าว

นครราชสีมาเร่งสร้างแหล่งอาหารช้างหลังอาละวาดหนัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวโคราชร่วมแรงกันเร่งสร้างแหล่งอาหารให้ช้างป่า หลังจากเกิดปัญหาช้างอาละวาดบุกทำลายผลผลิตทางการเกษตร


               27 พ.ย. 60  พลตรีอนุสรณ์ นุตสถิตย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายสุพจน์ แสนมี นายอำเภอครบุรี นำเหล่าจิตอาสาชาวอำเภอครบุรี พร้อมด้วยส่วนราชการและภาคเอกชนภายในอำเภอครบุรี กำลังพลทหารกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 กว่า 500 คน ร่วมกันปลูกพืชอาหารช้างพร้อมทั้งสร้างโป่งเทียมภายในพื้นที่ระหว่างแนวรอยต่อเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี บริเวณป่าคลองไอ้เหล็ก ท้องที่ตำบลโคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ห่างจากหมู่บ้านเกือบ 10 กิโลเมตร โดยใช้เนื้อที่เกือบ 20 ไร่ เพื่อสร้างเป็นแหล่งอาหารให้ช้างและสัตว์ป่า ได้มีอาหารกินอย่างพอเพียง หลังจากที่เกิดปัญหาช้างออกมาหากินนอกเขตพื้นที่ป่า กัดกินและเหยียบย่ำทำลายผลผลิตทางการเกษตร สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่านานหลายเดือนแล้ว

               พลตรีอนุสรณ์ เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าวที่จัดขึ้น เป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้นำท้องถิ่นที่ร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ร่วมมือกันทำแหล่งอาหารของช้าง หลังจากช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีพืชไร่พืชสวนของชาวบ้านถูกช้างป่าบุกเหยียบย่ำกัดกินได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว จึงได้ได้ระดมทุนและร่วมแรงกันโดยไม่ใช้งบประมาณจากทางภาครัฐ นำพืชที่เป็นอาหารที่ช้างชอบกินจำพวกอ้อย และกล้วย เดินทางเข้าไปปลูกในป่าเพื่อเป็นแก้ปัญหาระยะยาว

               อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ช้างออกมากัดกินพืชสวนชาวบ้านมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ จากพฤติกรรมของช้างเองที่ชอบเดินหากินไปเรื่อย จนมาพบผลผลิตของชาวบ้าน อาทิ กล้วย อ้อย ซึ่งมีรสชาติหวานอร่อยก็ติดใจ ในปีต่อไปก็จะพาพวกออกมากินอีก

               อีกสาเหตุคือ มีคนเข้าไปบุกรุกหรือขับไล่ช้างที่อยู่ในป่า จนทำให้ช้างหนีออกมาหากินตามแนวเขตป่า ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยเชื่อว่ากลุ่มขบวนการที่ลักลอบเข้าไปตัดไม้พะยูงซึ่งมีจำนวนมากก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างออกจากป่าออกหากกินนอกแนวเขต จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านดังกล่าว ซึ่งจากการข่าวในช่วงนี้นั้นมีรายงานว่า มีชาวต่างชาติหลบหนีเข้ามาทำไม้พะยูงในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นชุดๆ แต่ละชุดจะมีตั้งแต่ 20 ไปจนถึงมากกว่า 100 คน ในชุดเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบและติดตามหาตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาทำไม้ที่หลงเหลืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานหลักร้อยคน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ