ข่าว

‘ม.จ.จุลเจิม ยุคล’ จี้สอบ ‘โบสถ์ปลอม’ ภูเก็ตแจง ‘เสนาสนะ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต แจงไม่มีโบสถ์ปลอมตามที่แชร์ในโซเซียลเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรือ ‘เสนาสนะ’ ให้เอกชนเช่าเพื่อการพาณิชย์โดยถูกต้อง


               จากกรณีเฟซบุ๊กส่วนตัว หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล Chulcherm Yugala ได้โพสต์ภาพภายในวัดแห่งหนึ่งพร้อมข้อความ ระบุว่า

 

‘ม.จ.จุลเจิม ยุคล’ จี้สอบ ‘โบสถ์ปลอม’ ภูเก็ตแจง ‘เสนาสนะ’

 

               " มีการหากินกันแปลกๆ ท่าน ผอ.พศ. พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ครับ ช่วยกรุณาตรวจสอบให้หน่อยครับ โบสถ์ปลอม (20×80 ม.) สร้างใน พท. วัดลัฏฐิวนาราม ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต สร้างใหม่โดยพ่อค้าจีน รับเฉพาะ tour จีน ให้ลูก tour เข้าสักการะ (สังเกต ขยายรูปที่มีประตูเข้า ห้ามถ่ายรูปภายใน) แถมในโบสถ์ (ปลอม) มีพระจริง สวดอวยพร และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ด้วย

               ภายใน ถ้าไม่บอกล่วงหน้า จะไม่รู้ว่าเป็นโบสถ์ปลอม มีมรรคนายก เล่าสรรพคุณของพระ ฯลฯ จูงใจให้ซื้อ พระเลี่ยมทอง ขาย พระปลอมเลี่ยมทอง (แพงกว่า 4 เท่าตัว) ธูป เทียน 50 บาท/ชุด ไอศกรีม 50 บาท/แท่ง มะพร้าวอ่อน 50 บาท/ลูก เป็นต้น

               ปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 3 แห่งในภูเก็ต ได้ยินมาว่า ชลบุรี ก็มีแล้ว ม.จ.จุลเจิม ยุคล "

               หลังการโพสต์ข้อความดังกล่าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และจากการสอบถาม นายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากที่มีการเผยแพร่ตามโซเซียลและสื่อต่างๆ ว่าที่ วัดลัฏฐิวนาราม หรือ วัดใต้ ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต มีการสร้างโบสถ์ปลอมเพื่อใช้เป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าไปไหว้และเช่าบูชาพระนั้น ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่าอาคารที่มีการนำนักท่องเที่ยวจีนเข้าไปนั้น ไม่ใช่โบสถ์ เป็นเพียงอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือ เสนาสนะ ที่มีภายในวัด ส่วนโบสถ์ของวัดนั้นจะอยู่อีกจุดหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

 

 

               ส่วนการจัดให้มีทัวร์จีนเข้ามาภายในวัดนั้น เป็นการบริหารจัดการของวัด จากที่ได้สอบถามไปยังเจ้าอาวาส เบื้องต้นทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวทางวัดได้ให้เอกชนซึ่งเป็นคนไทยเช่า ในลักษณะสัญญาปีต่อปี ในอัตราเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท โดยสร้างอาคาร 2 หลัง และเนื่องจากวัดเป็นนิติบุคคล กรณีที่เช่าไม่เกิน 3 ปี เจ้าอาวาสมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่หากเช่าตั้งแต่ 3 ปี ไปจนถึง 20 ปี จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) และในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีอำนาจในการตรวจสอบสัญญาการให้เช่าว่าทำตามหลักการหรือไม่

               ส่วนการดำเนินการในลักษณะนำนักท่องเที่ยวจีนมาไหว้พระ และจัดให้มีการเช่าวัตถุมงคลนั้น ทางวัด และผู้เช่าสามารถดำเนินการได้ เพราะตามสัญญาที่ทำกันนั้น เป็นการเช่าเพื่อพาณิชย์ ซึ่งไม่ขัดต่อศีลธรรม และประเพณีอันดีงาม ส่วนที่บอกว่ามีการจำหน่ายสินค้าหรือให้เช่าวัตถุมงคลราคาสูงนั้น เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล และเป็นความพึงพอใจของผู้ซื้อ แต่เนื่องจากยังมีหลายประเด็นที่เป็นข้อกังขา เช่น การนำวัตถุมงคลปลอมมาจำหน่าย การห้ามไม่ให้คนไทยเข้าไปภายในพื้นที่ซึ่งมีการเช่าไว้ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ทางสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต จะลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) หากพบส่วนไหนกระทำผิดจริงก็จะดำเนินตามระเบียบกฎหมายต่อไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ