ข่าว

รอศาลฎีกาฯจัดองค์คณะใหม่ สั่งรับ-ไม่รับรื้อคดีทักษิณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัยการแบ่งงาน สน.คดีพิเศษ ดูรื้อคดีทักษิณ-แบงก์กรุงไทย - สน.ปราบทุจริต จับคดีออก ก.ม.แปลงภาษีสรรพสามิตธุรกิจโทรคมนาคม

 

          21 พ.ย.60 - นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์, นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (วิ อม.) ฉบับใหม่ ที่มีบทบัญญัติให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย (ลับหลัง) มีผลบังคับใช้แล้ว

รอศาลฎีกาฯจัดองค์คณะใหม่ สั่งรับ-ไม่รับรื้อคดีทักษิณ

นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ

          นายวันชาติ โฆษกอัยการ กล่าวว่า พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณตามกฎหมายใหม่ วิ อม. มาตรา 28 ที่บัญญัติสาระสำคัญว่า "ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตาม มาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องติดตามหรือจับกุมจำเลย รายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด แต่ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา" อัยการสูงสุดจึงได้มีคำสั่งที่ 1621/2560 ลงวันที่ 27 ต.ค.60 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และสำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ ที่มีนายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 

          ต่อมาวันที่ 7 พ.ย.60 คณะทำงานดังกล่าวได้ประชุมและดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องอันมีลักษณะต้องดำเนินการตาม วิ อม. มาตรา 28 รวม 2 คดีที่ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้แล้ว คือ 1.คดีทุจริตออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิต หมายเลขดำที่ อม.9/2551 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.51 อันเป็นการดำเนินการตาม วิ อม. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น และศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.51 และนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 5 ต.ค.51 แต่ปรากฏว่านายทักษิณ จำเลยได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่มาศาล พฤติการณ์มีเหตุควรสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนี ศาลจึงให้ออกหมายจับจำเลย และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

           2.คดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร หมายเลขดำที่ อม. 3/2555 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ กับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.55 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 1 ก.ค.55 และนัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 11 ต.ค.55 แต่นายทักษิณ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล พฤติการณ์สงสัยว่าจะหลบหนีจึงให้ออกหมายจับนายทักษิณและให้จำหน่ายคดีในส่วนของนายทักษิณ จำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราว

          นายวันชาติ กล่าวอีกว่า คณะทำงานร่วมกันประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าทั้ง 2 คดีดังกล่าวมีลักษณะต้องดำเนินการตาม วิ อม.2560 มาตรา 28 ประกอบบทเฉพาะกาล มาตรา 69 และ 70 จึงเสนออัยการสูงสุดให้มีคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ พิจารณายกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย 

          ซึ่งอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นพ้องตามที่คณะทำงานเสนอ และมอบอำนาจให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ซึ่งวันนี้ (21 พ.ย.) อัยการได้ยื่นคำร้องทั้ง 2 คดีดังกล่าวต่อศาลแล้ว โดยการรับผิดชอบสำนวนคดีนั้น สำนักงานคดีพิเศษจะเป็นผู้รับผิดชอบคดีปล่อยกู้กรุงไทย ส่วนสำนักงานปราบปรามการทุจริต จะรับผิดชอบสำนวนภาษีสรรพสามิตร

          "การยื่นคำร้อง สืบเนื่องจากการประกาศใช้ วิ อม. 2560 ขึ้นมาให้ศาลฎีกาฯ ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมาย จึงจำต้องยื่นคำร้องในครั้งนี้ อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายที่ตราขึ้นดังกล่าว" โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวย้ำ

          เมื่อถามถึงขั้นตอนต่อไปและกระบวนการดำเนินคดี จะถูกมองว่าเป็นการเลือกเล่นงานนายทักษิณหรือไม่ นายวันชาติ ระบุว่า หลังจากศาลฎีกาฯ รับคำร้องไว้แล้วก็ต้องรอศาลสั่งคำร้องต่อไป อยู่ที่ศาลจะดำเนินการ ทั้ง 2 คดีสำนักงานอัยการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามพยานหลักฐานเดิมที่มีอยู่ในสำนวน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เราตรวจสอบแล้วก็มาตกที่คดีของนายทักษิณ 2 คดี นอกจากนั้นก็มีคดีอื่นที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ

          เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการติดตามจับกุมนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาดำเนินคดี นายธรัมพ์ รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่ไหน หากรู้แล้วทางอัยกจึงจะถึงขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้

          เมื่อถามว่ากรณีนี้เป็นปัญหาการใช้กฎหมายย้อนหลังหรือไม่ นายธรัมพ์ กล่าวอธิบายว่า โดยหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีย้อนหลังได้ และมีบทเฉพาะกาล สิ่งที่ดำเนินการไปก่อนถือว่าสมบูรณ์ถูกต้อง ซึ่งท้ายที่สุดศาลจะวินิจฉัยว่าเป็นการย้อนหรือไม่ย้อน

 

รอศาลฎีกาฯจัดองค์คณะใหม่ สั่งรับ-ไม่รับรื้อคดีทักษิณ

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

          ด้านนายประยุทธ รองโฆษกอัยการ กล่าวเสริมว่า ตามมาตรา 28 ของ วิ อม.ใหม่ มีหลักการสำคัญคือ 1.จับตัวจำเลยไม่ได้ภายใน 3 เดือน ให้พิจารณาลับหลัง 2.จำเลยสามารถตั้งทนายความต่อสู้คดีได้ ซึ่งกระบวนการจับกุมจำเลยเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่วนมีคดีอื่นนอกจาก 2 คดีนี้หรือไม่นั้น ในส่วนของอัยการตรวจสอบแล้วพบว่ามีแค่ 2 คดีนี้ สำหรับอายุความในการพิจารณาคดีจะต้องรอศาลชี้ในการเขียนคำพิพากษาต่อไป

          สำหรับการยื่นคำร้องของอัยการดังกล่าว นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้นำคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง วันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น.

รอศาลฎีกาฯจัดองค์คณะใหม่ สั่งรับ-ไม่รับรื้อคดีทักษิณ

นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ

          โดยนายชาติพงษ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนในฐานะอัยการคดีพิเศษ ได้รับมอบหมายจากนายเข็มชัย อัยการสูงสุด ให้ยื่นคำร้องต่อศาล โดยคำร้องดังกล่าวมีความยาวประมาณ 5-6 หน้า บรรยายถึงเหตุผลในการร้องขอให้มีการพิจารณาคดีจากที่ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวเนื่องจากมีการเเก้ไขกฎหมายใหม่
ซึ่งหลังจากยื่นคำร้องแล้ว ตามขั้นตอนศาลจะต้องมีการนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเฟ้นหาองค์คณะ ซึ่งจากเดิมองค์คณะในคดีทั้ง 9 คนมีบางคนที่ได้พ้นจากตำแหน่ง จึงต้องมีการคัดเลือกองค์คณะให้ครบ 9 คนและก็จะมีการนัดพร้อมพิจารณาคำร้องอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาพอสมควร 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่อัยการ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ แล้ว นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) และทนายความนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้านคดีหมิ่นประมาท ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอัยการสูงสุดยื่นคำร้องของรื้อฟื้นคดีของนายทักษิณว่า ในส่วนของ 2 คดีดังกล่าวตนยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดู จึงไม่สามารถให้ความเห็นถึงแนวทางการต่อสู้คดีได้ แต่ในฐานะเลขาธิการ สกสส. ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่อยู่แล้ว ที่ให้อำนาจอัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ โดยไม่มีตัวจำเลย ตามมาตรา 28 

          "ตามหลักการไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งเป็นการตัดสิทธิจำเลยในคดีอาญา และยังขัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้วย แม้เป็นการไต่สวน ก็ไม่ได้อำนวยความยุติธรรมให้กับฝ่ายจำเลย เพราะจำเลยไม่อยู่ต่อสู้คดี จึงเป็นความไม่เป็นธรรมในตัว ขัดกับหลักสากลที่ต้องทำต่อหน้าจำเลย" นายวิญญัติ กล่าว

          นายวิญญัติ กล่าวแสดงความเห็นอีกว่า เมื่ออัยการรื้อฟื้นคดีตามที่กฎหมายใช้บังคับแล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่อยากให้เร่งรัดรื้อฟื้นเช่นกัน คดีของนายทักษิณเป็นคดีที่ศาลจำหน่ายไว้อยู่แล้ว การเร่งรีบแสดงให้เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคดีของกลุ่ม กปปส. ที่ตนร้องต่ออัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ทำไมไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและไม่รีบดำเนินการให้เหมือนกัน.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ