ข่าว

"ผู้พิพากษา"แจงหลักพิจารณาสั่งประกันจำเลยคดีในศาลสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ผู้พิพากษา" ระบุ หลักสั่งประกันมีใช้ทั่วไปตาม ป.วิอาญา อิงทุกคดีทุกคน ไม่มีผลคนดัง-เป็นใคร เน้นความหนัก-เบาข้อหา ความเสี่ยงปล่อยตัว


 

          20 ต.ค.60 - ตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร , น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย , น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย , นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 คนละ 500,000 บาท หลังจากมีการอ่านคำตัดสินของศาลอุทธรณ์วานนี้ (19 ต.ค.) ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 3 ปี และ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา   
          แหล่งข่าวผู้พิพากษา ได้กล่าวอธิบายในขั้นตอนปฏิบัติต่อการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีต่างๆ ว่า หลักปฏิบัติการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยมีบัญญัติในประมวลวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหลักทั่วไปที่ใช้กันทั้งทุกชั้นศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยคดีที่ถ้ามีการอ่านคำพิพากษาศาลสูงแล้วเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหากศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวศาลชั้นต้นก็สั่งอนุญาตได้ หรือมิฉะนั้นให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนให้ศาลสูงเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจเพื่อสั่งแล้วแต่กรณี (ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106) ซึ่งการพิจารณาศาลสูงก็ใช้หลักเดียวกันที่บัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์

          โดยเรื่องพิจารณาสั่งประกันเป็นการใช้ดุลยพินิจ (ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108) ที่จะพิจารณาจากพฤติการณ์คดี , ความหนัก-เบาของข้อหาและอัตราโทษที่ลงไว้ , ความน่าเชื่อถือในหลักประกัน , ความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด โดยมีการกำหนดวงเงินประกันไว้เป็นกรอบด้วย ถ้ายิ่งโทษสูงแน่นอนการสั่งประกันต้องคำนึงถึงการจะหลบหนีหรือไม่ยิ่งขึ้น โดยการสั่งประกันศาลไม่ได้ดูเรื่องตัวบุคคลว่าเป็นใคร มีชื่อเสียงอย่างไร แต่หลักคือการโทษนั้นสูงหรือไม่ พฤติการณ์ส่อจะหลบหนีมีหรือไม่ ดังนั้นการสั่งประกันโดยส่วนใหญ่ศาลสูงจะเพิ่มวงเงินประกันสูงขึ้นกว่าเดิมและจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้ด้วยเพื่อความรอบคอบ  ส่วนเงื่อนไขจะเข้มข้นเพียงใดก็แล้วแต่กรณี ขณะที่เมื่อสั่งประกันแล้วนายประกันถือเป็นส่วนสำคัญที่จะมีภาระในการติดตามส่งตัวจำเลยมาศาลตามนัด หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันและจำเลยหนี ศาลมีก็อำนาจบังคับตามสัญญาประกันด้วยการสั่งปรับนายประกันตามสัญญาประกันที่ทำไว้ ได้ 
          เมื่อเปรียบเทียบระหว่างที่ศาลฎีกาให้ประกันนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการบริษัทไร่ส้ม จำกัดคดีร่วมสนับสนุนเจ้าหน้า อสมท. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการรายงานโฆษณาส่วนเกิน ที่ต้องยื่นคำฎีกาที่มีการรับรองโดยผู้พิพากษาก่อนจึงจะได้พิจารณาสั่งประกัน แต่คดีของนางเบญจา ศาลฎีกาสั่งได้โดยไม่มีการยื่นคำฎีกาที่มีผู้พิพากษาเซ็นรับรอง 
          แหล่งข่าวผู้พิพากษา กล่าวอธิบายว่า การสั่งประกันถือเป็นดุลยพินิจของศาล โดยแยกจากขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์-ฎีกา จริงๆ กฎหมายมิได้ล็อกเรื่องนี้ว่าในคดีต้องห้ามฎีกา เมื่อจะสั่งประกันศาลสูงต้องรอจำเลยยื่นอุทธรณ์-ฎีกาเสียก่อน แต่ก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่ศาลพิจารณาจากพฤติการณ์หลายประการรวมกันหากคดีนี้โทษสูง อย่างที่บอกหลักสั่งประกันศาลจะพิจารณาถึงความหลักเบาโทษที่ลงไว้ หากเป็นคดีทุจริตที่ลงโทษเกิน 10 ปีอย่างกรณีคดีนายสรยุทธศาลก็ลงโทษหนักเกินกว่า 10 ปี ในชั้นแรกศาลสูงก็ย่อมต้องพิจารณาหลายประการแล้วยังไม่ให้ประกันกระทั่งจำเลยยื่นฎีกาที่มีการเซ็นรับรอง ส่วนคดีของนางเบญจา ลงโทษ 2-3 ปีเท่านั้นยังเรียกว่าโทษไม่หนักมาก ดังนั้นศาลสูงจะสั่งประกันก็ได้ถ้าพิจารณาแล้วเห็นสมควร           โดยประมวลวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการปล่อยชั่วคราว ก็ไม่ได้กำหนดขนาดว่าหากจำเลยยังไม่ยื่นอุทธรณ์-ฎีกาแล้วศาลสูงสั่งประกันไม่ได้ ส่วนการฎีกาคดีของนางเบญจาจะมีผู้พิพากษาเซ็นรับรองเพื่อจะยื่นฎีกาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วยกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ว่ากล่าวกันต่อไป แนวทางการสั่งประกันของศาลไม่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์อะไรใหม่ แต่ยังเป็นกฎหมายเดิมที่ใช้ทั่วไปกับทุกคน ทุกชั้นศาล โดยศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจโดยรอบคอบ.

 


 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ