ข่าว

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหนือความงดงามทรงมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” เนื่องจากทรงพระปรีชาสามารถในงานศิลปะหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือพระอัจฉริยภาพด้าน “การถ่ายภาพ”
         ...ภาพชินตาของประชาชนคนไทยตลอด 70 ปีทรงครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ หรือทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ของใช้ส่วนพระองค์ติดพระวรกายตลอดเวลา นอกจากสมุด ดินสอ และแผนที่ นั่นก็คือ “กล้องถ่ายภาพ” 

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

          จากบันทึกต่างๆ ทำให้เราทราบกันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดปรานการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เช่น หนังสือ “กษัตริย์และกล้อง” โดย ศักดา ศิริพันธุ์ (ราชบัณฑิต) จัดพิมพ์โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทยุคการถ่ายภาพเฟื่องฟูสมัยรัชกาลที่ 9 บรรทัดที่ว่า “...เมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษาได้ 8 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ซื้อกล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Coronet Midget พระราชทานให้พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช....” นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงถ่ายภาพ
ในช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชา ทรงฉายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พิมพ์ลงในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ในขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อีกด้วย เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฉายภาพสิ่งต่างๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จะปรากฏบนปกนิตยสารต่างๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

         ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสอย่างพระอารมณ์ขันแก่คนสนิทว่า....“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”
          นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นช่างภาพสมัครเล่นความว่า...คนบางคนคิดว่า สมัยนี้รถยนต์ที่วิ่งเรียบและเปิดหลังคาโล่ง ได้เข้ามาแทนที่การนั่งช้างอันโขยกเขยกในราชพิธีเป็นส่วนมากแล้วในเมืองไทย การถ่ายรูปจึงเป็นของง่ายสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ฉันคิดว่านี่ก็จริงอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่มันยังไม่ใช่แก่นแท้ของปัญหาทีเดียว แก่นแท้ของปัญหานั้นคือว่า ในราชพิธีท่านไม่อาจเปิดกล้องลงมือถ่ายรูปคนอื่นๆ ทุกคน บรรดาที่เขาเองก็พากันกำลังจ้องถ่ายรูปตัวท่านอยู่ได้อย่างสบายนักหรอก นอกจากนั้นแล้วรูปถ่ายพระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่มีภาพพระเจ้าอยู่หัวติดอยู่ บางคนเคยแนะนำให้ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ สวมติดไว้กับผิวหนังแล้วให้เจาะรูเล็กๆ ที่เครื่องแต่งกาย พอให้เลนซ์โผล่ออกมาข้างนอกได้เพื่อให้ดูคล้ายๆ เครื่องปราศรัยอีกอย่างหนึ่ง แต่นี่ฉันคิดว่าคงไม่ได้ผล ฉันพยายามแก้ปัญหาสองวิธี วิธีแรก ฉันก็มองรูปที่ฉันต้องการถ่ายไว้ก่อนลงมือ จากนั้นก็ตั้งกล้องแล้วขอให้เพื่อนคนหนึ่งชี้ล่อประชาชนไปทางอื่น แล้วฉันก็กดปุ่มให้ทันที แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีเพื่อนๆ น้อยคนนักจะทำได้ถูกต้อง อีกวิธีหนึ่งก็คือ ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง พอมโหรีเริ่มบรรเลงหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ที่จะทำให้ฝูงชนหันจากฉันไปเสียทางอื่นฉันก็รีบควักกล้องออกมาถ่ายแล้วเก็บลงกระเป๋ากางเกงอีก แต่ไม่สนุกเลยจริงๆ (สยามนิกร, 27 ก.พ. 2493 อ้างในพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสฯ, มปป : หน้า 1-2)

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

          และด้วยพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อสนพระราชหฤทัยในสิ่งใด พระองค์จะทรงศึกษาอย่างลึกซึ้ง และการถ่ายภาพก็เช่นเดียวกัน ทรงศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการถ่ายภาพอย่างมาก รวมถึงทรงสะสมตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้เป็นจำนวนมากอีกเช่นกัน และไม่เพียงแค่พระองค์ทรงศึกษาแค่จากในตำราเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว พระองค์ยังทรงคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ อาทิ ทรงเคยนำแว่นกรองแสงชนิดพิเศษติดหน้าเลนส์ ลักษณะของแว่นกรองแสงเป็นแผ่นใส ส่วนบนเป็นสีฟ้า ส่วนล่างเป็นสีแสด และเมื่อถ่ายภาพ ผลที่ได้ คือส่วนล่างเป็นสีธรรมชาติ ส่วนบนจะได้สีฟ้า และส่วนล่างจะได้สีแสด พระองค์ทรงเคยใช้แว่นกรองแสงนี้ทดลองฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทำให้สีของสิ่งต่างๆ ในภาพ เช่น ชุดฉลองพระองค์ พระเก้าอี้ พระวิสูตร พรม เป็นสีสอดคล้องสัมพันธ์เข้าเป็นสีชุดเดียวกัน พระองค์ทรงประดิษฐ์แว่นกรองพิเศษนี้ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีบริษัทใดผลิตแว่นกรองแสงเพื่อใช้ในการถ่ายภาพมาก่อน

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  หาได้หยุดความสนพระราชหฤทัยเฉพาะเพียงแค่เรื่องการถ่ายภาพเท่านั้น แต่ยังทรงศึกษากระบวนการในห้องมืดกระทั่งทรงพระปรีชาสามารถ เช่น การล้างฟิล์มและการอัดขยายภาพทั้งขาวดำและสี ทรงเคยจัดทำห้องมืดที่บริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อสำหรับล้างฟิล์มและขยายภาพสี โดยใช้เครื่องล้างและเครื่องขยายภาพสีอัตโนมัติ แบบที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานทั่วไป พระองค์ทรงรู้เรื่องทฤษฎีสีเป็นอย่างดี

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

         พระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการถ่ายภาพเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ววงการถ่ายภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2514 ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเข็มทองศิลปะการถ่ายภาพแด่พระองค์ท่าน นอกจากนี้ ราชสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Photographic Society of Great Britain) ได้กราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Honorary Fellow) และสหพันธ์ศิลปะการถ่ายภาพนานาชาติ (Fediration International de l’Art Photographique) ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตรสูงสุด (Honorary Excellent FIAP) ด้วย

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

         ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่อง “การถ่ายภาพ” อีกสองครั้ง ได้แก่ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพพัฒนาประเทศเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2537 ความว่า...
         “รูป ที่ถ่าย เราก็ปะตัดเอาไปให้หนังสือพิมพ์ พิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือเป็นสิ่งที่ให้ความสุข ให้ความสบายใจ ก็เพราะว่าการถ่ายรูปนั้นไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นแต่เพียงกดชัตเตอร์สำหรับเก็บรูปให้เป็นที่ระลึก แล้วถ้ารูปนั้นดี มีคนได้เห็นรูปเหล่านั้นและพอใจ ก็จะทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้ผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบหมายความว่าได้ให้ เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง เป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป”

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

          และในงาน The First Annual Bangkok Art & Photography Event 2007 มีพระราชดำรัสความว่า “การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคมให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง”
         ด้วยความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการถ่ายภาพ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายภาพนี้ ประกอบกับมีพระราชประสงค์จะทรงใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายอย่างกว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ขึ้นในสำนักพระราชวัง เพื่อทำหน้าที่บันทึกภาพล้างอัดขยายภาพ อนุรักษ์ภาพ และให้บริการภาพแก่ผู้ที่มาติดต่อขอไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีจำนวนมากมาย แต่สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ภาพแนวจิตรศิลป์ และ ภาพแสดงพระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้เพียงแสดงความงามทางศิลปะหรือวิจิตรศิลป์เพียงอย่างเดียว ยังมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรของพระองค์ และการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศอีกด้วย นับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงใช้ศิลปะการถ่ายภาพเพื่อการพัฒนาประเทศในอีกมุมหนึ่งโดยแท้

“ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์...ในหลวง ร.9”

         ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์อัครศิลปิน และพระมหากรุณาธิคุณในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดแสดงนิทรรศการ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” จำนวน 200 ภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน” โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ช่วงรัชกาล ได้แก่ ช่วงต้นรัชกาล จัดแสดงภาพถ่ายยุคขาว-ดำของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชโอรส พระราชธิดา ตั้งแต่วันพระราชสมภพและพระบรมวงศานุวงศ์ ช่วงกลางรัชกาล จัดแสดงภาพทรงงาน ณ สถานที่และโครงการต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร การชลประทาน การพัฒนาท้องถิ่น และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ ช่วงปลายรัชกาล จัดแสดงภาพคราวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล ทัศนียภาพอันงดงามต่างๆ และสุนัขทรงเลี้ยง 
         นิทรรศการ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 7 มกราคม 2561 ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ