ข่าว

นายกฯเตือน ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บิ๊กตู่" ห่วงน้ำฝน-พายุเข้าทั่วประเทศ เตือนปชช.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด "บิ๊กฉัตร" สั่งเร่งระบายน้ำ

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 10ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในเรื่องน้ำตนกังวลและเป็นห่วงเนื่องจากประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปริมาณน้ำฝนและพายุที่เข้ามาเพราะไทยเป็นประเทศลุ่มต่ำ ปริมาณน้ำจึงไหลสะสมจากตอนบนลงมา ซึ่งมีผลกระทบมาโดยตลอด ขณะเดียวกันหากมีฝนตกที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลจะทำให้น้ำสะสมมากขึ้น จึงต้องแยกจากกันระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำของรัฐบาลกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง คือพื้นที่ทั่วประเทศและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้เราจะต้องเตรียมความพร้อม
 
    นายกฯกล่าวต่อว่า ในเรื่องสถานการณ์พายุก็ขอให้ติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา  ซึ่งตนได้สั่งการให้เผยแพร่สื่อแบบตัววิ่งในโทรทัศน์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในเรื่องปริมาณน้ำฝนก็ขอให้ติดตามด้วย
 
    "เรื่องน้ำทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถ้าเราสามารถบริหารจัดการน้ำได้ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ไหลลงมาจากภาคเหนือ หรือปริมาณน้ำที่ตกลงมาขังท่วมในแต่ละพื้นที่ การระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็วก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดความเสียหายมากน้อยแค่ไหน แต่เราพยายามจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ส่วนปัญหาพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเป็นการระบายน้ำออกข้าง ถ้าน้ำฝนและพายุมาเพิ่มก็ต้องระมัดระวัง ขอเตือนประชาชนให้เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ผมเป็นห่วงและพวกท่านก็ต้องเข้าใจ ภาระของรัฐบาลเวลานี้เราพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดความเสียหายเพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติแต่เราก็ต้องเข้าใจและเตรียมตัว อยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้ได้เพราะน้ำมามากกว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องแก้ไขกันต่อไป" นายกฯกล่าว

    ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า สถานการณ์น้ำประเทศไทยในเวลานี้ ในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำสะสมร้อยละ 79 โดยยังสามารถรับน้ำได้อีกร้อยละ 20 และเนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงที่ประเทศจะต้องเจอกับสถาการณ์พายุฝน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในจุดที่สำคัญแล้ว โดยจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ภาคอีสาน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมา มีปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนค่อนข้างมาก และจะใกล้จะเต็มความจุของเขื่อน จึงมีแผนที่จะปัดน้ำผ่านทางระบายน้ำหลักของประเทศ เพื่อให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ผ่านทางลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องสูบน้ำมทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักดันน้ำให้ได้ตามเป้า

    พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ยังคงมีจุดเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ 3 จุด ประกอบด้วย พื้นที่จ.นครสวรรค์  เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เวลานี้สามารถระบายน้ำได้ 2,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤตที่ 2,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอ.อบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถือเป็นจุดสุดท้ายที่จะสังเกตว่าจะส่งผลกระทบถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือไม่ เป็นพื้นที่กว้างและสามารถระบายน้ำได้เวลานี้ 2,260 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าต่ำกว่าจุดวิกฤตที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนที่เกิดขึ้น แต่อาจจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบบ้างในส่วนของพื้นที่นอกคันกันน้ำตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร

    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 12-14 ตุลาคม  กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้นอีก จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินจุดวิกฤตแล้ว  นอกจากนั้นยังได้สั่งการเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องมือระบายน้ำตามพื้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสุโขทัยหรือพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ โดยรายงานล่าสุด พบว่าพื้นที่ส่วนใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ ใต้เขื่อนเจ้าพระยา มีพื้นที่รับน้ำทั้งหมด 12 ทุ่ง ได้ดำเนินการปัดน้ำเข้าไปแล้วร้อยละ 70 ยังเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกร้อยละ 30 จึงคาดการณ์ว่าหากปริมาณฝนไม่มากจนเกินไป จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้าที่วางไว้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ