ข่าว

ก้าวใหม่ !! นักวิทย์คิดค้น ‘กาว’ ปิดแผลได้ใน 1 นาที

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กาว ‘MeTro’ เป็นไฮโดรเจลที่มีความยืดหยุ่นสูงและเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อของร่างกาย เพราะสารนี้ทำมาจากโปรตีนของมนุษย์


               การซ่อมแซมบาดแผลในระหว่างการผ่าตัดอาจเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และมักต้องใช้วิธีเย็บหรือใช้ที่หนีบโลหะ แต่ด้วยการพัฒนา "กาวสำหรับการผ่าตัด" นี้ ทำให้การปิดแผลสามารถทำได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที  ดูข่าวต้นฉบับ

 

ก้าวใหม่ !! นักวิทย์คิดค้น ‘กาว’ ปิดแผลได้ใน 1 นาที

ภาพ : China Xinhua News

 

               Nasim Annabi ผู้นำในการเขียนบทความวิจัยนี้และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น กล่าวว่า สิ่งปิดบาดแผลจากการผ่าตัดที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น ยึดติดได้ ปลอดสารพิษ และไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ทว่าวัสดุปิดแผลส่วนใหญ่ในตลาดกลับยังขาดคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วน

               บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Science Transational Medicine ระบุว่า กาว "MeTro" เป็นไฮโดรเจลที่มีความยืดหยุ่นสูงและเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อของร่างกาย เพราะสารนี้ทำมาจากโปรตีนของมนุษย์ ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตอบสนองต่อแสงอัลตราไวโอเลต (UV)

               เมื่อนักวิจัยใช้กาวนี้ทาลงบนแผล และให้กาวได้สัมผัสกับแสงยูวี แผลจะถูกปิดผนึกภายใน 60 วินาที ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า กาวตัวนี้สามารถปิดบาดแผลได้ โดยที่ไม่ได้ขัดขวางการขยายตัวหรือการผ่อนคลายอวัยวะหรือผิวหนังของตัวอย่างทดลองในการวิจัย

 

ก้าวใหม่ !! นักวิทย์คิดค้น ‘กาว’ ปิดแผลได้ใน 1 นาที

ภาพ : China Xinhua News

 

               นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้นำ "MeTro" ไปทดลองในสัตว์อีกด้วย ซึ่งจากการใช้กาวนี้ปิดแผลการผ่าตัดหลอดเลือดในหนู และแผลจากการผ่าตัดปอดในหมู พบว่าไม่มีร่องรอยการรั่วหรือแผลเปิดแต่อย่างใด

               มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นรายงานว่า Annabi และเพื่อนร่วมงานของเธอได้วางแผนจะทดสอบ กาว MeTro ในระยะยาวต่อไป ก่อนที่จะนำไปทดลองทางคลินิกกับมนุษย์

               Annabi กล่าวถึงการคาดการณ์ของเธอว่า ภายใน 3 - 5 ปีนี้ กาว MeTro จะสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้จริงในโรงพยาบาล

               Anthony Weiss ผู้เขียนงานวิจัยอีกคนหนึ่งและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าวว่า "อุปกรณ์นี้มีประสิทธิภาพอย่างมาก มันสามารถรักษาบาดแผลภายในที่ร้ายแรง ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุจากรถยนต์ และการสู้รบในพื้นที่สงคราม รวมถึงช่วยพัฒนาการทำงานผ่าตัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย"

 

 

 

 

-----------------------

(ที่มา : China Xinhua News)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ