ข่าว

 "บิ๊กตู่" เตรียมลงใต้เปิดสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำสตูล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "บิ๊กตู่" เตรียมลงใต้เปิดสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำสตูล 29 ก.ย.นี้ นำเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก้าวสู่ "ประเทศไทย4.0"

 


          27 ก.ย. 60 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิดการใช้งานสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำ ที่จังหวัดสตูลในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลในการนำพาประเทศไทยก้าวสู่ "ประเทศไทย4.0" ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยมีกำหนดการดังนี้

          เวลา 07.00 น. นายกฯ เดินทางจากท่าอากาศยาน 2 กองบิน 6 (บน.6) ไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 56 (หาดใหญ่) จากนั้นเดินทางต่อโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังที่ว่าการ อ.ละงู จ.สตูล และเดินทางต่อโดยขบวนรถยนต์ไปมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล เพื่อเปิดพิธีส่งมอบเน็ตประชารัฐ จ.สตูล และร่วมพูดคุยผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เน็ตประชารัฐกับตัวแทนแต่ละภูมิภาค จำนวน 5 ภูมิภาค พร้อมส่งมอบให้กับตัวแทนประชาชนในพื้นที่ จากนั้นนายกฯจะมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านราไว อ.ทุ่งหว้า พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย และพบปะประชาชนในพื้นที่ เยี่ยมชมร้านค้าชุมชนที่ใช้เน็ตประชารัฐมาช่วยขายสินค้า

          ต่อมาเวลา 11.45 น. นายกฯเดินทางต่อไปยังสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดใช้บริการสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา พร้อมเยี่ยมชมสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา จากนั้นเวลา 14.45 น. นายกฯเดินทางกลับโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังกองบิน 56 และเดินทางกลับกรุงเทพฯในเวลาต่อมา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำปากบารา จ.สตูล เป็นโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำ Asia-Africa-Europe 1 (AAE-1) รวมระยะทาง 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชียและยุโรป โดยระบบ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลระหว่างเอเชียตะวันออกและยุโรปต่ำสุด และยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกที่ทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญของโลกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 17 ประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

          ซึ่งเป็นโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งบริการภาครัฐให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรและโอกาสที่ทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมซึ่งครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จะทำให้คนในชุมชนทุกชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำรงชีวิตได้ทุกมิติ ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยจะส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการกินดี อยู่ดี อย่างยั่งยืน.


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ