ข่าว

กรมชลเตรียมผันน้ำเข้าคลองทุ่งเจ้าเจ็ด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลเตรียมผันน้ำเข้าคลองทุ่งเจ้าเจ็ด

      วันที่ 23 ก.ย.   นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากกรณีของประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เรียกร้องให้กรมชลประทานเปิดประตูน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด เพื่อนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด ตามที่ได้ทำประชาคมร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการเกษตร ประมง หมักตอซัง และเก็บกักน้ำไว้ทำนาครั้งที่ 2 นั้น กรมชลประทาน ขอเรียนชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด เพื่อหารือข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งในเบื้องต้นได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด เป็นประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำน้อยช่วงปลายที่ถูกแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนเข้ามาโดยตรง หากเปิดประตูระบายน้ำจะทำให้รับน้ำเข้าคลองเจ้าเจ็ดโดยตรงก่อนทดเข้าทุ่งเสนา ในเขตของสำนักงานชลประทานที่ 11 ซึ่งเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ได้เริ่มทำการเปิดน้ำบางส่วนเข้าคลองเจ้าเจ็ดแล้วประมาณ 10 เซนติเมตร

            และในวันนี้ (23 กันยายน 2560) นายพงศ์ศักดิ์ อรุณวิจิตรสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และ นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าเจ็ด ได้ข้อตกลงว่าจะเปิดประตูระบายน้ำที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว 1 เมตร เพื่อรับน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าเจ็ดในวันนี้ และหากในช่วง 3 – 4 วันนี้ไม่มีฝนหรือน้ำหลากเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว สำนักงานชลประทานและโครงการชลประทานในพื้นที่จะพูดคุยกับเกษตรกรอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างตามความเหมาะสมเป็นลำดับถัดไป

            สำหรับปริมาณน้ำที่ขังอยู่ตามทุ่งแก้มลิงต่างๆ เป็นปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ไม่ใช่ปริมาณน้ำที่นำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแต่อย่างใด เนื่องจากกรมชลประทาน ได้กำหนดให้มีการรับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 25 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะใกล้สิ้นสุดฤดูฝนของภาคกลางแล้ว คงมีเฉพาะปริมาณน้ำที่กรมชลประทาน ได้ส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ ที่อยู่ในทุ่งเพื่อรักษาระบบนิเวศ และให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ในการเกษตร และการประมง ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้นำพันธุ์ปลาและกุ้งต่างๆ ปล่อยเข้าไปในทุ่งเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำประมง และเมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูแล้งจะเริ่มทะยอยระบายน้ำออกจากทุ่งต่างๆ ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมของแต่ละทุ่ง โดยจะคงปริมาณน้ำไว้ในระดับที่เหมาะสมสำหรับให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวครั้งที่ 2 ต่อไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ