ข่าว

ฎีกายืนยกฟ้อง 2 อดีตผู้บริหารยักยอกบีบีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฎีกายืนยกฟ้อง"อดีตผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ -อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชบีบีซี" ส่วนเกริกเกียรติ เสียชีวิตแล้วปี 55 คดีจำหน่ายออกจากสารบบความ

          8 ส.ค.60 ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดียักยอกทรัพย์บีบีซี คดีหมายเลขดำ 10765/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี , นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี , นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี , บริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พเพรซิลวา จำกัด และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ กก.ผจก.บริษัทอเมริกันฯ เป็นจำเลยที่ 1- 5 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีเมื่อวันที่ 6 ต.ค.37 - 4 มี.ค.39 นายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษานายเกริกเกียรติด้านการให้สินเชื่อ ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อจำนวน 1,000 ล้านบาทให้แก่บริษัท ฟอร์ ฟิฟ ออเรจน์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาทโดยนำโฉนดที่ดิน จ.สระแก้ว ที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ จำนวน 19 แปลงเนื้อที่ 462 ไร่มาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ 
 
         โดยจำเลยที่ 4-5คำนวณราคาที่ดินสูงกว่าราคาประเมินถึง 10 เท่าคิดเป็นเงิน 832 ล้านบาทซึ่งการประเมินที่มีเจตนาจะใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อนั้นทำให้บีบีซี ได้รับความเสียหาย โดยการที่นายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 อนุมัติปล่อยสินเชื่อดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องรายงานให้ ธปท.ทราบถึงการปล่อยสินเชื่อซึ่งจะต้องไม่อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีผลประกอบรายได้ติดต่อกันเกิน 3 ปี ขณะที่การอนุมัติสินเชื่อเกิน 30 ล้านบาทก็ต้องผ่านมติกรรมการ (บอร์ด) ของบีบีซีก่อน ซึ่งการจำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อโดยใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อหมายเลข 0109 เจ ปล่อยเงินกู้นั้นทำให้ธนาคารเสียหาย รวม 1,567,274,175 บาท

        ซึ่งศาลชั้นต้น พิพากษาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 ให้จำคุกนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 313 อันเป็นบทหนักสุด รวม 13 กระทงเป็นเวลา 130 ปีและปรับ 3,134,548,351.74 บาท แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงที่จำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 10 ปีแล้วตามกฎหมายให้จำคุกไว้ทั้งสิ้นเป็นเวลา 20 ปี และให้ปรับ บ.อเมริกัน สแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 2 พันล้านบาท กับให้จำคุก 10 ปีพร้อมปรับ 2 พันล้านบาทนายไพโรจน์ กก.ผจก.บ.อเมริกันสแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 5 และยังให้จำเลยที่ 1,4,5 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซีรวม 1,567,274,175 บาท

          เนื่องจากเห็นว่า การอนุมัติเงินกู้โดยใช้บัตรรายการดังกล่าวที่รับมาจากนายราเกซ โดยไม่ตรวจสอบความสามารถในการใช้เงินของผู้กู้ทั้งที่ ธปท.มีหนังสือแจ้งเตือนมาแล้ว จำเลยที่ 1,4,5 จึงมีความผิดตามฟ้อง ส่วนนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 และ นายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงิน และวานิชกิจธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่า บัตรรายการอนุมัติไม่ได้อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสองขณะเกิดเหตุ ดังนั้นจึงไม่เป็นความผิด ขณะเดียวกันโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 - 3 ได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้องทั้งสอง ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.56 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

          อย่างไรก็ดีสำหรับนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 1 ได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.55 ด้วยโรคมะเร็งปอดขณะมีอายุ 63 ปี ส่วนนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 นั้นถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษ 20 ปีและให้ชดใช้เงินบีบีซี จำนวน 1,854,201,794.75บาท คดีปล่อยกู้สินเชื่อบีบีซี 1 สำนวนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหมายเลขดำที่ 10764/2542 กรณีเมื่อปี 2538 นายเอกชัยร่วมกับนายเกริกเกียรติ ใช้บัตรพิเศษผ่านรายการ 0109 J (บัตรอิเล็กทรอนิกส์ใช้อนุมัติวงเงินสินเชื่อผ่านระบบคอมพิวเตอร์) อนุมัติสินเชื่อให้บุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ ในวงเงินเกิน 30 ล้านบาท สำหรับนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 นั้นก็ถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษคดีบีบีซีเช่นกัน สำหรับนายไพโรจน์ กก.ผจก.บ.อเมริกันสแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 5 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 10 ปีนั้นคดีถึงที่สุดไปแล้วเมื่อจำเลย รับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

           โดยวันนี้ศาลได้เบิกนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 และนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 มาจากเรือนจำเพื่อฟังคำพิพากษาฎีกา

         ทั้งนี้นายวัลลภ จริยวัตร ทนายความของนายเอกชัย จำเลยที่ 2 เปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งพิพากษายืนที่ให้ยกฟ้องนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี จำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าช่วงเกิดเหตุนายเอกชัยได้คืนบัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จึงไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งคดีนี้ถือเป็นสำนวนแรกที่ทั้ง 3 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายเอกชัย โดยขณะนี้นายเอกชัย ยังเหลือคดีที่ต้องรอฟังผลอุทธรณ์และฎีกาคดีบีบีซีบางสำนวน ซึ่งนายเอกชัย ถูกฟ้องดำเนินคดี 15 เรื่องแต่รวมดำเนินคดีแล้วเหลือ 8 เรื่อง อย่างไรก็ดีสำหรับนายเกริกเกียรตินั้นเมื่อเสียชีวิตไปแล้วแต่ศาลก็ยังได้ให้ทายาทรับชดใช้ค่าเสียหายทางคดีแทนด้วย   

        ขณะที่นายวินัย ฤทธิ์โชติ ทนายความของนายวันชัย กล่าวว่า สำหรับนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงินและวานิชธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 ศาลฎีกาก็ยกฟ้องเช่นกันโดยเห็นว่าการลงลายมือชื่อเห็นสมควรอนุมัติสินเชื่อนั้นทำตามหน้าที่ไม่มีเจตนาจะทำให้เสียหาย อย่างไรก็ดีสำหรับนายวันชัยนั้นถูกอัยการยื่นฟ้องกว่า 10 สำนวนแต่รวมพิจารณาแล้วก็เหลือ 6 เรื่อง

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียักยอกทรัพย์บีบีซีนั้นที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาฎีกาแล้ว 3 สำนวน คือคดีหมายเลขดำที่10764/2542 ที่ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่บีบี และนายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่ ซึ่งนายเกริกเกียรติ เสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี ส่วนนายเอกชัย จำเลยที่ 2 ศาลให้จำคุกรวม 204 กระทง ๆ ละ 5 ปีรวมทั้งสิ้น 1,020 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกความผิดตามกฎหมายแล้วให้จำคุกนายเอกชัย จำเลยที่ 2 ไว้  20 ปีและให้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทน จำนวน 1,854,201,794.75บาท แก่ธนาคารฯ บีบีซี.

           กับคดีหมายเลขดำ ด.7254/2543 ที่ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี , นายจิตตสร ปราโมช ณ อยุธยา อดีตรอง ผอ.สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ , ม.ร.ว.ดำรงเดช ดิศกุล อดีตผู้บริหารอาวุโส สำนักบริหารเงินและวิเทศกิจ และ ม.ร.ว.หญิงสุภาณี สารสินหรือ ดิศกุล อดีตรองผอ.ฝ่ายการตลาด บีบีซี เป็นจำเลยที่ 1-4 กรณีเมื่อเดือน พ.ค. 38 – ก.ค.39 จำเลย ร่วมกับนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี วางแผนอนุมัติขายหุ้นเพิ่มทุนของบีบีซี จำนวน 260 ล้านหุ้นโดยไม่ตรวจสอบประวัติฐานะของบริษัทผู้เข้ามาจองซื้อหุ้น ซึ่งขายให้กับบริษัท ออลบิ ยูเอสเอ อิงค์ และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เครดิต โบรคเกอร์เรจ โฮลดิ้ง อิงค์ ที่มีนายราเกซเป็นผู้รับมอบอำนาจการซื้อขายหุ้น

           โดยมีการนำหุ้น 90 ล้านหุ้นคิดเป็นเงินจำนวน 23,170,731.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 570 ล้านบาทไปขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินมาชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 38 ล้านหุ้นของบีบีซี และยังได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธนาคารเนชั่นแนลเครดิตแบงก์ รวมทั้งสินเชื่อให้กับบริษัท อาร์คาร์เดีย แคปปิตอล พาร์ทเนอรส์ อิงค์ และบริษัท เอเซซ คอร์ปรเรท โฮลดิ้ง แอนด์ ไฟแนนซ์ อิงค์ อีกรายละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนายราเกซเป็นผู้ลงนามในตั๋วสัญญาใช้เงินที่ทั้งสองบริษัทนำมาวางประกันขอสินเชื่อ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยที่ 2-4 คนละ 6 ปี 8 เดือนและปรับคนละ 666,666.66 บาท ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ม.308 ที่เป็นบทหนักสุด และให้จำเลยที่ 2-4 ร่วมจำเลยที่ 1 ชดใช้เงิน 85,733,882.04 ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการยึดทรัพย์สิน

          และคดีหมายเลขดำ ด.6173/2542 ที่ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ อดีต กก.ผจก.ใหญ่ บีบีซี , ม.ร.ว.อรอนงค์ เทพาคำและ น.ส.เยาวลักษณ์ นิตย์ธีรานนท์ อดีตรองผอ.ฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ เป็นจำเลยที่ 1-3 กรณีเมื่อเดือน พ.ค.38 จำเลยทั้งสามร่วมกับนายราเกซ อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี ลงนามทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ธนบัตรระหว่างบีบีซี กับบริษัท ดิเวลลอปเมนท์ ไฟแนนซ์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด ทำให้บีบีซี เสียหายมูลค่า 1,228,896,438 บาท ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุกคนละ 2 กระทงรวม 20 ปี และให้ปรับคนละ 1,157,244,186.28 บาท จำเลยทั้งสามบทหนักสุดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซีจำนวน 589,622,043.04 บาท 

         สำหรับนายราเกซ อายุ 65 ปีสัญชาติอินเดีย ฉายาพ่อมดการเงิน อดีตที่ปรึกษา กก.ผจก.ใหญ่บีบีซีนั้น ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำ โดยอัยการได้ยื่นฟ้องยักยอกบีบีซีไปแล้ว 5 คดี ขณะที่มีการตัดสินคดีแรกสำนวนคดีหมายเลขดำ ด.3054/2552 ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.55 กรณีร่วมกันยื่นขอสินเชื่อกู้ยืมเงินในนามบริษัทซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากธนาคารบีบีซี ผู้เสียหาย ไปเป็นเงินทั้งสิ้น 1,657,000,000 บาท โดยนำที่ดิน ที่นำมาเป็นหลักประกันสูงเกินจริงถึง 1,350,100,000 บาท ทั้งที่ราคาประเมินเพียง 26,900,000 บาท โดยให้จำคุก 10 ปี และปรับ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ชดใช้เงินคืนบีบีซีด้วยจำนวน 1,132,000,000 บาท จากจำนวนความเสียหายทั้งหมด 1,657,000,000 บาท เนื่องจากการปล่อยกู้เงินได้มีการชำระเงินแล้วจำนวน 525,000,000 บาท
    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ