ข่าว

กพร.ผนึกประชารัฐพัฒนาแรงงานใต้รับ4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก.แรงงานผนึกประชารัฐ กว่า 10 แห่ง ฝึกทักษะอาชีพแรงงานภาคใต้รองรับเทคโนฯ 4.0 ระบุ กพร.ร่วม มหาวิทยาลัยพัฒนาฝีมือให้นักศึกษาผ่านระบบสหกิจ มาแล้วกว่า5,500 คน

         เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560  ที่ห้องนาครา โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(อธิบดี กพร.) เป็นประธานการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และเอกชนกว่า 10 แห่ง เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานภาคใต้ เน้นฝึกทักษะอย่างมืออาชีพ ได้มาตรฐาน รับเทคโนโลยีสมัยใหม่

        นายธีรพล  กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่างสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตรัง กับสถานประกอบกิจการ สภาอุตสาหกรรม และ มหาวิทยาลัย ในเขตจังหวัดตรัง ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย และให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในทุกด้าน เพื่อให้เป็นแรงงานฝีมือ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ต่อยอดการมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยผ่านกลไกประชารัฐ

        "ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่สังคม ภายใต้การนำของพลเอก ศริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตรัง จึงลงนามความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กลุ่มบริษัท วู้ดเวอร์คกรุ๊ป จำกัด บริษัท ตรังไม้ยางพารา จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยสวนจันทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย(มทร.ศรีวิชัย)วิทยาเขตตรัง"นายธีรพลกล่าว

กพร.ผนึกประชารัฐพัฒนาแรงงานใต้รับ4.0  

        อธิบดี กพร. กล่าวอีว่า การร่วมลงนามในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการพัฒนาพนักงานของตนเอง ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการฝึกให้สอดคล้องกับความต้องการ และได้มาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานฝีมือฯ ซึ่งใช้เฉพาะในแต่ละแห่งด้วย การดำเนินงานดังกล่าว สถานประกอบกิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 อาทิ การนำค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกอบรมไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 100 หรือดำเนินการพัฒนาพนักงานเกินกว่าร้อยละ 70 ของพนักงานทั้งหมด ส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 70 จะได้รับการเงินช่วยเหลืออีกรายละ 200 บาทต่อคน 

        "หรือเมื่อสถานประกอบกิจการนั้นมีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนเอง ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนอีกสาขาระดับละ 10,000 บาท หรืออีกกรณีคือ หากมีการพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท เป็นต้น"นายธีรพล กล่าว

กพร.ผนึกประชารัฐพัฒนาแรงงานใต้รับ4.0

        นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนั้น จะร่วมกันพัฒนาฝีมือให้แก่นักศึกษาในระบบสหกิจศึกษา เพื่อให้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านอาชีพ พร้อมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ตรงกับตลาดแรงงานและมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การทำงานต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา กพร.ได้ดำเนินการแล้วกว่า 5,500 คน

        "การบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งแรงงานในสถานประกอบการ และแรงงานใหม่ ให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะฝีมือสูงขึ้น และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยใช้ตลาดนำการฝึก เพื่อเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ" นายธีรพล กล่าวในที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ