ข่าว

ทนายร้อง "อัยการสูงสุด" เร่งสั่งคดีฟ้องกบฏ"สุเทพ-กปปส."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิญญัติ"เลขาธิการสกสส.ร้อง"อัยการสูงสุด"รอบสอง เร่งสั่งคดีฟ้องกบฏ"สุเทพ - แกนนำกปปส."ชุดใหญ่ผ่าน 3 ปี คดีไม่คืบ ลั่น 30 วันไม่แจ้งคืบหน้า จ่อร้องป.ป.ช.ไต่สวน

            28 มิ.ย. 60 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.เเจ้งวัฒนะ นายวิญญัติ  ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) พร้อมด้วยทีมทนายเดินทางมายื่นหนังสือถึง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด เพื่อทวงถามและเร่งรัดการสั่งสำนวนคดีแกนนำ กปปส. ร่วมกันเป็นกบฏ ที่มีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2556 – 2557 โดยมีนายพันธ์โชติ บุญศิริ ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้เเทนอัยการสูงสุด รับหนังสือไว้ ซึ่งนายพันธ์โชติ กล่าวว่า จะนำหนังสือเสนออัยการสูงสุด พิจารณาสั่งการตามขั้นตอนต่อไป

            ขณะที่นายวิญญัติ เลขาธิการ สกสส. กล่าวว่า ตนในฐานะผู้กล่าวโทษ เเละประชาชนผู้ติดตามคดีกบฏของกลุ่ม กปปส. ได้เคยยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดไปเเล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 เเต่ก็ยังไม่มีการเเจ้งความคืบหน้าหรือเเถลงให้ประชาชนรับทราบเหมือนเช่นคดีอื่น จึงอาจเป็นปัญหาความเชื่อมั่นต่อองค์กรอัยการอย่างมาก ในวันนี้จึงมาขอเร่งการพิจารณาสั่งคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยตนยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า 1.นับเเต่วันนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด เห็นควรให้สั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 58 คนในข้อหากบฏ ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้วคดีไม่มีความคืบหน้าคดีช้าผิดปกติ

            2.การยื่นฟ้องผู้ต้องหา 4 รายจากจำนวน 58 รายที่ยังไม่ดำเนินคดีอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ทางคดีกับผู้ที่ยังไม่สั่งฟ้อง ซึ่งปรากฏว่า มีผู้ต้องหาบางคนที่ยังไม่ได้ฟ้องไปนั่งฟังการพิจารณาคดีหลายครั้ง เเละด้วยคดีดังกล่าวมีการสืบพยานโจทก์สำคัญหลายปากทำให้พยานบุคคลเกิดความหวาดกลัวเกรงได้รับอันตราย เเละข้อเท็จจริงจากพยานอาจได้รับความเสียหายเเละเป็นการเข้าไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานเกินสมควร เกิดความเสียหายต่อสำนวน ผู้ต้องหาที่ยังไม่ฟ้องมีโอกาสล่วงรู้พยานหลักฐานในคดี

            3.การสอบสวนของพนักงานสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้การสั่งคดีของอัยการสูงสุดชะลอเวลาไว้จนกระทั่งคดีที่ฟ้องไปก่อนอาจจะสืบพยานเสร็จสิ้นลง การปฏิบัติดังกล่าวส่อเจตนาให้ล้มคดีหรือไม่ 4.การขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาในปี 2557 เกิดภายหลัง คสช. ยึดอำนาจ สอดรับกับการปลดออก เเละเเต่งตั้งอัยการสูงสุดหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนคิดว่า การชุมนุมที่มีผู้ต้องหาเป็นเเกนนำเป็นที่มาของการควบคุมบริหารราชการเเผ่นดินของ คสช. และ และ5.กระบวนการที่ล่าช้าดังกล่าว อาจส่งผลต่อมาตรฐานการทำงาน ความเชื่อมั่นองค์กรอัยการ เเละอาจเสียความยุติธรรมอย่างไม่เคยเกิดขึ้น

            หลังจากนี้ตน จะมาขอทราบผลการพิจารณาภายใน 30 วัน หากไม่มีความคืบหน้าหรือไม่มีการสั่งฟ้องคดีตามความเห็นของพนักงานสอบสวนเเละอัยการสูงสุดที่เคยมีคำสั่งฟ้องไปเเล้ว ตนก็จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ปปช. เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ไต่สวนเรื่องนี้ตามกฎหมายทันที

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสำนวนคดีการชุมนุมของ กปปส.นั้น อัยการได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 8 พ.ค.57 สั่งฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และอดีตแกนนำ กปปส.รวม 43 คน ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ , กระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดที่มิใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่ยอมเลิก , ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน ปิดงานงดจ้าง ,บุกรุกสถานที่ราชการ รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหาเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

            และสั่งให้ฟ้องนักวิชาการ 5 คน ที่ได้ร่วมขึ้นปราศรัยด้วย ในข้อหาร่วมกันสนับสนุนนายสุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. กระทำการอันเป็นกบฏดังกล่าว แต่เนื่องจากระหว่างนั้น นายสุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกผู้ต้องหา 48 คน พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ยังไม่ได้รับตัวไว้สอบสวนเพราะติดการชุมนุม โดยผู้ต้องหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนให้ครบถ้วน ดังนั้นเมื่ออัยการมีความเห็นสมควรสั่งให้ฟ้องแล้ว จึงให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอไปดำเนินการเรียกตัวผู้ต้องหามาสอบและสรุปเป็นสำนวนคำให้การตามขั้นตอนให้ครบถ้วนเพื่อส่งสำนวนคดีกลับมาให้อัยการเพื่อจะสั่งคดีและรวมยื่นฟ้องเป็นคดี

            แต่ภายหลังเมื่อสิ้นสุดการชุมนุม แกนนำ กปปส. ก็ได้มีการร้องขอเป็นธรรมขอให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม จึงยังไม่ได้มีการสั่งคดีในส่วนของนายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. และแกนนำ โดยที่ผ่านมาอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำเพียง 2 คนกับนักวิชาการ 2 คนไปก่อนเท่านั้น ขณะที่คดีดังกล่าวมีอายุความ 20 ปีในการดำเนินคดี.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ