ข่าว

“ปชป.” ยื่น 4 ข้อเสนอนายกฯแก้วิกฤติยางพารา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ปชป.”  บุกทำเนียบยื่นข้อเสนอ "บิ๊กตู่" แก้ปัญหายางพารา ระบุ รบ.ต้องประกาศไม่ขายยางในสต๊อก เร่งหน่วยงานรัฐนำยางแปรรูปมากขึ้น กำหนดยางพาราเป็นเกณฑ์ประเมินผู้ว่าฯ

 

          28 มิ.ย. 60 -  นายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ นายสาธิต  ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ปชป. เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า จากการปรึกษากับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราเห็นว่าวิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของเกษตรกร และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และสามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้โดยการใช้การบริหารตลาดให้เหมาะสม 
          นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้เคยกระทำสำเร็จในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว ที่ได้ริเริ่มคุยกับผู้ผลิต 3 ประเทศ  คือ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยได้ดำเนินการเจรจา 3 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทาง ปชป. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลใช้การบริหารตลาดโดยประกาศว่าจะไม่ขายยางพาราในสต๊อกและจะนำมาใช้ในประเทศไทยเท่านั้น 2.ให้รัฐบาลเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐนำยางพาราไปแปรรูปเพื่อใช้ในประเทศให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล และขอให้รัฐบาลถือว่าการนำยางพาราไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา และเป็นเกณฑ์ประเมินการปฏิบัติงานของผู้บริหารในหน่วยงานที่สามารถใช้ยางพาราได้ และให้หน่วยงานนั้นแจ้งตัวเลขการใช้ยางพาราในหน่วยงานต่อรัฐบาลทุก 4 เดือน
          นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า 3.ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของราคายางพาราราคาไม่ได้เป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน แต่มีการตั้งราคาเพื่อแสวงหากำไรตามใจผู้ซื้อ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) จึงควรจัดตั้งบริษัทจำกัด หรืบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยเร็ว และป้องกันไม่ให้มีการตั้งราคาซื้อขายโดยแสวงหากำไรเกินควรจากผู้ซื้ออีก และ 4.ขอให้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางกลางคือ  ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายร่วมกันอย่างชัดเจน เราหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอทั้ง 4 ประการ ที่ได้จากการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราไปปฏิบัติโดยเร็ว

          ขณะที่ นายออมสิน กล่าวว่า เรื่องหลักที่มายื่นร้องเรียนมีทั้งราคายางพาราตกต่ำ ที่ต้องการให้รัฐบาลใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น โดยใช้ทำถนนและกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้ราคายางพาราดีขึ้น ส่วนน้ำมันปาล์มที่มีจำนวน 4-5 แสนตัน ค้างอยู่ในประเทศนั้น ก็อยากให้เพิ่มการใช้น้ำมันในประเทศมากขึ้น เช่น อาจให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หรือไม่ โดยตนจะนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้นายกฯรับทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม การมายื่นครั้งนี้เพราะอดีตส.ส.ปชป. ต้องการสะท้อนให้เห็นว่ายังดูแลพื้นที่และนำปัญหาของประชาชนมาให้รัฐบาลรับทราบ.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ