ข่าว

กลุ่มแพทย์ 6 องค์กร หนุน“บิ๊กตู่”แก้พ.ร.บ.หลักประกันฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลุ่มแพทย์ 6 องค์กร  แก้บัตรทอง 30 บาท ชี้ที่ผ่านเป็นระบบการรักษาแบบเหมาโหล  การรักษาไม่เต็มประสิทธิภาพ

 

          7 มิ.ย. 60 - กลุ่มพลังแพทย์ 6 องค์กร ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข 

          โดยพญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องการให้มีการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากปัญหาหลายอย่าง เช่น การรักษาที่แย่ลงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนทำให้คุณภาพการบริการและการรักษาตกต่ำลง คือผู้ที่ถือบัตรทองที่เป็นโรค เช่น ความดันโรหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดโดยมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าปกติร้อยละ 70 เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บังคับให้ได้รับการรักษาแบบเหมาโหล และปัญหาสำคัญที่ถูกละเลยคือสิทธิในการเลือกวิธีการรักษา นอกจากนี้การใช้งบประมาณแผ่นดินสำหรับสุขภาพที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาพยาบาลตนเอง โดยเฉพาะโครงการประชานิยม 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ห้ามไม่ให้มีการร่วมจ่ายโดย สปสช. แต่กลับใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นหมื่นกว่าล้านทุกปี หากปล่อยไว้จะเป็นภัยความมั่นคงทางการคลังของชาติ 

          “เมื่อรัฐบาลให้มีการแก้กฎหมาย มีกลุ่มเอ็นจีโอได้ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว ทั้งนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ได้รับเงินจากกองทุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่แย่งเงินจากรัฐบาลในการจ่ายเป็นเงินค่ารักษาประชาชน เพื่อนำไปทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ โดยรัฐบาลตรวจพบว่ามีการใช้เงินไปกับมูลนิธิต่างๆ เป็นการใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ จนนายกฯต้องใช้มาตรา 44 เพื่อมาตรวจสอบ และจนถึงปัจจุบัน รมว.สาธารณสุขก็ยังไม่มีการตรวจสอบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารมว.สาธารณสุขอาจจะมีส่วนได้เสียหรือรู้เห็นกับการไม่แก้ปัญหานี้หรือไม่”พญ.อรพรรณ กล่าว

          ด้านพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า เราสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยมีข้อเสนอ 5 ประเด็น 1.เพิ่มอำนาจกระทรวงสาธารณสุข และควรมีฐานะรองรับ การกระจายอำนาจลงไปที่สุขภาพเขต ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ทั้งการป้องกัน และรักษาโรคได้ดีขึ้น  2.ปรับความสมดุลอำนาจระหว่างโรงพยาบาลรัฐ กับ สปสช. โดย สปสช. ต้องไม่ทำสัญญาผลงานกับโรงพยาบาลรัฐ แต่ให้ทำสัญญาผลงานกับเขตสุขภาพเท่านั้น เพื่อให้การกำหนดเป้าหมายผลงานมีความสอดคล้องกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ และสปสช. ต้องไม่มีบทบาทในการรักษา รวมถึงให้ยกเลิกกองทุนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงสปสช. ต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายการจัดตั้งกองทุน อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนที่มาของบอร์ดหลักประกันสุขภาพ ให้มีตัวแทนจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ให้มากขึ้น หรือเทียบเท่ากับจำนวน NGO

          พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า 3.สนับสนุนให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขตามหลักประชารัฐ เพราะจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจและการตรวจสอบตลอดจนเข้าถึงปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ 4.พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ให้คนชนชั้นกลางกลับไปใช้บริการ และร่วมจ่ายบริการสุขภาพ โดยที่ สปสช. ต้องไม่ห้ามหรือขัดขวาง 5.ส่งเสริมให้มีรายการสุขภาพเสริม เช่น บัตรประกันสุขภาพล่วงหน้า โดยให้มีสิทธิพิเศษ เช่น ได้ห้องพิเศษก่อน เข้าถึงบริการเร็วขึ้น หรือนำยอดเงินที่ประชาชนร่วมรับผิดชอบไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นให้ โรงพยาบาลเกิดการแข่งขันแย่งกันให้บริการประชาชน

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ