ข่าว

เปิดเสวนาคลองไทย 9A รับฟังความคิดเห็น ปชช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายคลองไทย 9A จ.ตรัง ร่วมกับสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย – จีน จัดเสวนารับฟังความเห็นของประชาชน

               วันที่ 6 พ.ค.60 ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค จังหวัดตรัง เครือข่ายคลองไทย 9A จังหวัดตรัง ร่วมกับสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย – จีน จัดเสวนาทางงวิชาการ เรื่อง “คนตรังคิดอย่างไร? กับการเสนอให้รัฐบาล ตั้งคณะทำงานศึกษาคลองไทยแนว 9A” อโดยเป็นการให้ความรู้และรับฟังความเห็นของประชาชน หัวหน้าราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เกี่ยวกับโครงการขุดคลองไทย 9A หลังจากที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการเมกกะโปรเจค แต่ต้องการจะให้เกิดจากความต้องการของประชาชน 

             ซึ่งกำหนดจะขุดผ่าน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,680,000 ล้านบาท ระยะทางยาว 140 กม. กว้าง 300 – 400 เมตร ลึก 30 เมตร ลักษณะเป็นคลอง 2 คลองคู่ขนานไปและกลับ มีการสร้างสะพานแขวน สะพานโค้ง และสะพานเชื่อม 2 ฝั่งคลอง ทั้งทางบกและทางรถไฟ โดยคาดการณ์จะทำรายได้ 120,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี ใช้เวลา 14 ปีคืนทุน ลดเส้นทางเดินเรือได้ 700 กม.เพราะช่องแคบมะละกามีปัญหา มีความแออัดมากขึ้น การจราจรทางเรือหนาแน่น 80,000 ลำต่อปี จึงมีแนวคิดก่อสร้างโครงการดังกล่าวขึ้น หวังให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนี่งในภูมิภาค

           โดยมี พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาโครงการคลองไทย เป็นประธาน พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ในฐานะรองนายกกิตตมศักดิ์สมาคมการค้าไทยจีน พล.ท.โอภาส รัตนบุรี อดีต ส.ว.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธาน กมธ.ศึกษาพื้นที่คลองไทย 9A พล.อ.ประดิษฐ์ บุษเกิด เลขาธิการสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทยจีน พล.ต.ศรชัย แก้วนพ รองเลขาธิการสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทยจีน ดร.สถาพร เขียววิมล คณะทำงานฝ่ายวิชาการ นายระพี อินทร์วิเศษ หัวหน้าคณะกรรมการศึกษาคลองไทย จ.ตรัง นายสายัณ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ข้าราชการ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรังเข้าร่วมกว่า 300 คน

             สำหรับพื้นที่ จ.ตรังเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่คาดว่าคลองไทยแนว 9A จะพาดผ่านโดยมีการลงพื้นที่ศึกษาเก็บข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นแล้ว สำหรับแนวทางการพัฒนาคลองไทย คือ โครงการขุดคลองเชื่อมต่อทะเลอันดามันและอ่าวไทย การศึกษาขั้นต้นความเป็นไปได้โครงการขุดคลองไทย ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 400 เมตร ความยาวรวมทั้งสิ้น 135 กิโลเมตร โดยเริ่ม จาก อ.สิเกา จ.ตรัง ผ่านจ.นครศรีธรรมราช และออกสู่อ่าวไทยที่ อ.ระโนด จ.สงขลา โดยจะมีการพัฒนา 2 ฝั่งคลองให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและท่าเรือ เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยว

             ด้าน พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานคณะกรรมการศึกษาโครงการคลองไทย กล่าวว่า หากมีการขุดคลองไทยจริง คิดว่าประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะเกิดการแข่งขันกันสูง เนื่องจากจะะเกิดประโยชน์กับประเทศและชาวโลก ส่วนเกณฑ์การวัดความคุ้มค่ากับความคุ้มทุนอยู่ตรงไหน ไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับคณะทำงานศึกษาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งความเจริญที่จะต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคนที่จะเป็นคณะทำงานศึกษาคลองไทยที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะจะต้องศึกษาในรายละเอียดลึกซึ้งทุกด้าน ทั้งผลกระทบกับวิถีชีวิต สิ่งมีชีวิต สัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนหวงแหนให้กระทบน้อยที่สุดอย่างไรบ้าง

             ส่วนการศึกษาคาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำในคณะศึกษา ดังกล่าว ประกอบกับเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่นำมาปัดฝุ่นใหม่ มีการศึกษาไปแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่ต้องล้มพับ แต่ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีในการศึกษา ในการพัฒนา รวมทั้งการขุดต่างๆมี การพัฒนาไปเร็วมาก ดังนั้นเรื่องถ้ามีการหยิบเรื่องนี้มาศึกษาอย่างจริงจัง และวางแผนรองรับจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทย และชาวโลก

              ส่วนขั้นตอนขณะนี้คือ เรานำข้อมูลความรู้มาให้ประชาชนว่า สิ่งนี้ดีหรือไม่ดี แต่เป็นความรู้ในกรอบกว้างๆ นั้นเท่านั้น ไม่ใช่ในเชิงลึก ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่เห็นว่าดี ก็จะเป็นแรงสนับสนุนสะท้อนความต้องการ ขณะเดียวกันในภาควิชาการ ก็จะต้องเข้าศึกษาด้วย ซึ่งหากเห็นว่าเป็นโครงการที่มีหลักการและเหตุผลที่ดี ก็สามารถจัดประชุมสัมมนาหรือเสวนาขึ้นมา เพื่อให้มีความผสมผสานและมีน้ำหนักเพียงพอที่จะเสนอรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีให้ทำการศึกษาต่อไป 

             ส่วนคณะทำงานศึกษาฯที่จะมีการแต่งตั้งขึ้นมาในยุค คสช.นี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็เชื่อว่าจะยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชุดต่อๆไป เพราะการทำงานเกี่ยวกับชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เป็นการวิ่งผลัด 4 คูณ 100 แต่จะมีการวิ่งผลัดส่งไม้กันไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่เป็นห่วงว่าจะมีการสานต่อหรือไม่ เพราะรัฐบาลที่เข้ามาก็ย่อมมีมุมมองความเร่งด่วนของงานว่า จะทำอะไรก่อน อะไรหลัง และโครงการขุดคลองไทย เป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นโครงการที่ก่อให้เหตุโครงการพาณิชย์นาวี หรือการขนส่งทางน้ำนั้น ไม่ใช่เกิดประโยชน์แต่บ้านเรา แต่เกิดประโยชน์กับชาวโลกด้วย จึงเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนและสานต่อ ส่วนตัวเชื่อว่าชาวโลกที่เป็นมหาอำนาจ หรือประเทศที่มีสินค้าจะต้องลำเลียงผ่านเส้นทางแถบนี้อยู่แล้ว จะต้องเหลียวมาแลประเทศไทยอย่างแน่นอน 

              ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า การขุดคลองไทยเป็นการแบ่งแยกแผ่นดิน อาจจะเป็นช่องทางทำให้ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปหาประโยชน์กับกลุ่มที่สนับสนุน หรือเข้าทางของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น พล.อ.พงษ์เทพ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้มองว่าจะเป็นความแตกแยก แต่จะเป็นการรวม2ทะเลของภาคใต้ระหว่างอ่าวไทย – อันดามัน เข้าด้วยกันและมองว่าเป็นการสร้างความเจริญและความผกผันในพื้นที่ ในด้านการสร้างงาน สร้างโอกาส แต่จะต้องมีกาจัดทำแผนรองรับอย่างละเอียดรอบคอบ

               ผศ.ดร. อภิรักษ์ สงรักษ์ นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง กล่าวให้ความเห็นว่า ดีใจที่มีการเคลื่อนข้อมูลให้ชาวใต้ได้รับรู้ในหลายเรื่อง ที่ผ่านมากระแสการให้ข้อมูลในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี้ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือปากบาราสตูล หรือโครงการแลนด็บริดถึงตรัง-สงขลา รวมถึงโครงการเซ้าท์เทิรน์ซีบอร์ด สำหรับโครงการจุดคลองไทย มีการพูดคุยมานานหลายสิบปี ที่ผ่านมามีการโยนหินถามทาง สุดท้ายเส้นทาง9Aเป็นเส้นทางที่พูดคุยกันมาก เส้นทางยาวและสร้างเศรษฐกิจได้มมากขึ้น ในแง่ขอความเจริญคนใต้เข้าใจ และถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาในบางเรื่องแต่ต้องมข้อมูลให้ดี ทั้งในแง่ของความคุ้มค่า สังคมและที่สำคัญทางภาคใต้มีฐานทรัพยากรทางทะเลที่ดี ดังนั้นการดูแลในเรื่องของฐานทรัพยากรต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนมากกว่านี้แม้ว่าในเชิงพัฒนาคนใต้กำลังเรียนรู้อยู่ก็ตาม

            นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมสวนปาล์มจังหวัดตรัง อดีตกำนันตำบลกะลาเส กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะได้เปลี่ยนมิติเศรษฐกิจใหม่ที่เดิมปลูกยางพารา ที่สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ผลผลิตตกต่ำ ถ้ามัวแต่ทำอยู่ตรงนี้จะพัฒนาช้า โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ จะมีการจ้างงานกันถึง2ล้านอัตรา รายได้ประเทศชาติสูงขึ้นหลายแสนล้านซึ่งจากการสำรวจประชาชนที่คลองไทยผ่าน โดยเฉพาะในจังหวัดตรังเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ในส่วนของการเป็นห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อมทราว่ามีฝ่ายวิศวกรรมดูแลเรื่องนี้อย่างชัดเจน และให้คำตอบได้ ในนามตัวแทนของภาคประชาชนในพื้นทีเห็นด้วย เป็นโครงการใหญ่ที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการพัฒนาประเทศให้เจริญมากยิ่งขึ้น 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ