ข่าว

ปลัดมท. สั่งเข้มทั่วประเทศสร้างการรับรู้ สกัดโกง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ปลัดมท." สั่ง 6 มาตรการเข้มทั่วประเทศปรับบริหารพื้นที่-สร้างการรับรู้ หลังพบส่อโกง-ประพฤติมิชอบเพียบ 

 

          29 เม.ย.60 - นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้ส่งข้อความสั่งการผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศ เพื่อให้แนวทางการบริหารจัดการงานในพื้นที่ (area based) และสร้างการรับรู้ (perception) ที่ถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยในระดับพื้นที่ (area-based) ได้แก่ ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อประชาชนที่มารับบริการจากหน่วยงานรัฐ และการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนนั้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดการร้องเรียนเข้ามาที่ส่วนกลาง จึงได้กำหนดแนวทางการแก้ไข ดังนี้ 1.ขอให้ผู้ว่าฯ บูรณาการบริหารงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดและงบประมาณพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคในปีงบประมาณ 2560 และ 61 งบประมาณอปท. และงบฯส่วนราชการ (function) โดยใช้แผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด และยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เป็นเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ ด้วยความโปร่งใส ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน   
          2.ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหาร อปท. ในฐานะผู้รับผิดชอบประจำพื้นที่จะต้องหมั่นออกไปตรวจเยี่ยม ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ประการสำคัญจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ไม่ได้ทอดทิ้งหรือเพิกเฉยต่อการเอาใจใส่ดูแลประชาชนแต่อย่างใด 

          "ผู้ว่าฯ นายอำเภอจะต้องสามารถคาดการณ์หรือประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ในแต่ละห้วงเวลาให้ได้ เพื่อจะได้เตรียมการวางแผนในการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนไว้ล่วงหน้าให้ทันต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ปัญหาสาธารณภัย ราคาผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลตกต่ำ ความไม่เข้าใจเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการของรัฐในพื้นที่ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และปัญหาการปล่อยข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงที่มีผลต่อความเชื่อของประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งที่เป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ได้" ข้อสั่งการระบุ   
          3.การใช้กลไกศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และอำเภอ เป็นหน่วยบูรณาการกับส่วนราชการทุกหน่วยในพื้นที่ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 96/2557 โดยให้มอบหมายรองผู้ว่าฯ รับผิดชอบงานของศูนย์ดำรงธรรมโดยตรง เพื่ออำนวยการและติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของศูนย์ดำรงธรรมอย่างต่อเนื่องทุกๆ 7 วัน 

          4.ในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนหรือเกิดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรองรับในจังหวัดและอำเภอหรือเกินอำนาจหน้าที่ภารกิจของหน่วยงานในระดับจังหวัดหรืออำเภอ ก็ให้รวบรวมเรื่องดังกล่าวเสนอมายัง มท.และกระทรวงหรือหน่วยอื่นๆ ในส่วนกลางที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการร้องเรียนหรือความเดือดร้อนนั้นเป็นผู้พิจารณาดำเนินการแก้ไข โดยให้จังหวัดทำหลักฐานแจ้งประชาชนผู้ร้องเรียนให้ทราบถึงผลการดำเนินการในระดับจังหวัดด้วยว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียนนั้น ไปแล้วอย่างไรบ้างและจะต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่ได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวไปแล้วอย่างไรบ้าง และให้ใช้การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทุกช่องทางอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ให้นายอำเภอจัดตั้งตัวแทนคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) หรือ ตัวแทนชุมชน จำนวน 2 คน เพื่อทำหน้าที่ติดต่อกับทางราชการในการชี้แจงประชาสัมพันธ์เรื่องราวข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ไว้ประจำหมู่บ้าน ชุมชนด้วย   
          5.ขอให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และผู้บริหาร อปท. กำกับ และติดตาม ตรวจสอบ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานของตนเองอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ รวมทั้งหาวิธีการปลุกจิตสำนึกของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับให้ยึดมั่นในแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และโปร่งใส โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น แต่งตั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับงานตามโครงการในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน การจัดทำป้ายโครงการเพื่อแสดงรายละเอียดของโครงการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ และประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จังหวัด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ภูมิภาค หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ได้เข้าติดตามการดำเนินงานโครงการของหน่วยงานรัฐในพื้นที่เป็นประจำด้วย โดยผู้ว่าฯ นายอำเภอ และผู้บริหาร อปท. จะต้องแสดงภาวะผู้นำและวางตนอย่างมุ่งมั่น แข็งขัน และชัดเจนในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่กระทำการที่อาจเป็นช่องทางให้ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบได้    
          "กระทรวงมหาดไทยได้พบว่ามีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงานบริการหรืออนุมัติ อนุญาตตามกฎหมายที่มักมีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาในเรื่องการทุจริตเป็นจำนวนมาก ได้แก่ งานบริการด้านการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชน สัญชาติงานเกี่ยวกับสถานะคนต่างด้าว งานตามกฎหมายอาวุธปืน งานสถานบริการ งานอนุมัติ-อนุญาตตามกฎหมายโรงแรม งานอนุมัติ-อนุญาตตามกฎหมายการพนันทุกประเภท งานขออนุญาตตามกฎหมายควบคุมอาคาร งานตามกฎหมายทะเบียนที่ดินรวมทั้งออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินประเภทต่างๆ งานอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุฯ เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างก่อสร้างตามโครงการสาธารณูปโภคหรือการพัฒนาแหล่งน้ำรูปแบบต่างๆ การเรียกเก็บผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่เป็นรายเดือนหรือรายงวดต่างๆ จึงขอเน้นย้ำให้ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และผู้บริหาร อปท.ได้กำชับและตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หาทางป้องกันแก้ไขมิให้เกิดการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด"    
          6.หาก ผู้ว่าฯ นายอำเภอ และผู้บริหาร อปท. มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบริหารงานในพื้นที่หรือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีประสิทธิผลแล้ว ขอให้เสนอมายัง มท. ได้ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงการบริหารงานของภาครัฐให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริงต่อไป.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ