ข่าว

เตือนภัย!! กินยาลดอ้วน7วัน ต้องหามส่งโรงพยาบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สาววัย 35 ปี กินยาลดอ้วน 7 วัน ลด 5 กิโลกรัม เกิดวูบ เบลอ พูดไม่รู้เรื่อง ต้องหามส่งโรงพยาบาล

 

         26 เม.ย.60 - ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 60 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ได้ส่งตัวผู้ป่วยหญิงอายุ 35 ปี มาเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง ด้วยอาการ อาการเบลอ สับสน ปวดท้ายทอย พูดจาสื่อสารไม่รู้เรื่อง สับสน เหนื่อย และง่วงนอน เมื่อซักประวัติพบว่าผู้ป่วยรายนี้ กินยาลดความอ้วน ยี่ห้อหนึ่งติดต่อกัน 7 วันแล้ว ทำให้น้ำหนักลด 5 กิโลกรัม แต่ส่งผลข้างเคียงกับร่างกาย

         “ผู้ป่วยเล่าว่า เมื่อช่วงสงกรานต์ มีเพื่อนบ้านกลับมาพบว่าเพื่อนผอมลง จึงสนใจทำให้ทราบว่าเพื่อน กินยาลดความอ้วน ยี่ห้อนี้ เพื่อนเห็นว่าผู้ป่วยรายนี้ต้องการลดน้ำหนักจึงให้ยาลดความอ้วนมากิน เมื่อตรวจสอบพบยากินเป็นชุด ซื้อมาในราคาชุดละ 370 บาท ใน 1 ซอง มี 21 เม็ด ผู้ป่วยกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น รับประทาน 7 วัน น้ำหนักลด 5 กิโลกรัม จนมีอาการเบลอ พูดจาไม่รู้เรื่อง ปวดท้ายทอย ญาตินำตัวส่งโรงพยาบาลสาธรณสุขตำบล จากนั้นถูกส่งตัวมาวินิจฉัยอาการ และรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล ปกติผู้ป่วยรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว แต่พบว่าเมื่อกินยาลดความอ้วนแล้วมีผลข้างเคียงตามมาที่อันตรายกับร่างกาย”ภญ.สุภาวดี กล่าว

         ด้านนพ.วันชัย วันทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง กล่าวว่า สำหรับยาลดความอ้วนดังกล่าว ถูกระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมื่อตรวจสอบ ไม่มีเลข อย. แต่กลับพบว่าระบาดหลายจังหวัดภาคอีสาน ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและวัยทำงาน หลังได้รับตัวอย่างยาได้ส่งตรวจสอบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าใน 1 ชุด มียาอยู่ 3 ชนิด สารที่พบคือ ไซบูทรามีน มีผลต่อระบบประสาท ทำให้นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง ไบซาโคดิล เป็นยาระบาย หากกินต่อเนื่องจะมีผลทำให้หงุดหงิด ตัวบวม และไดอะซีแพม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทส่วนกลาง ในทางการแพทย์จะใช้เป็นยากล่อมประสาท

         “แต่การใช้ยาทุกตัวที่พบในเอเชียสลิมเป็นยาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อสั่งยา แล้วจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้น ไม่สามารถซื้อขายได้เองตามร้านขายยา เพราะหากรับประทานมากเกินไปจะส่งผลข้างเคียงกับร่างกาย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ ความดัน หลอดเลือด เพราะตัวยาจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีโอกาสช๊อค หมดสติ และเสียชีวิตได้ แต่การควบคุมดูแลการระบาดของยาเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันมีการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านสามารถซื้อหาได้ง่าย การป้องกันคือชาวบ้านต้องรู้เท่าทันโทษของยา รวมถึงช่วยเป็นหูเป็นตาดูสิ่งผิดปกติที่จะเข้าสู่ชุมชน แล้วส่งต่อข้อมูลผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหายาอันตราย”นพ.วันชัย กล่าว

            นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ยกเลิกทะเบียนตำรับยาไปตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น จึงห้ามไม่ให้การจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารตัวนี้ในประเทศไทย เนื่องจากยาตัวนี้จะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยจะมีอาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
            ส่วนไดอะซีแพม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 4 มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ คลายเครียด ซึ่งเป็นยาที่จะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องเท่านั้น และจะต้องทำรายงานการใช้แจ้งให้อย.ทราบด้วย และไบซาโคดิล  จัดเป็นยาแผนปัจจุบันทั่วไป มีฤทธิ์เป็นยาระบาย มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป 
            “ปกติแค่ตัวยาไซบูทรามีนตัวเดียวก็มีอันตรายแล้ว ทำให้มึนๆงงๆ เมื่อมาใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์คลายเครียด ทำให้ง่วงนอนและยาระบายซึ่งหากได้รับเข้าไปมากก็จะระบายมากทำให้ระบบต่างๆของร่างกายรวนไปได้”นพ.สุรโชคกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ