ข่าว

ชี้ช่องมองหาคอนโด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหาของผู้ซื้อคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มักเกิดจากการไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด

ชี้ช่องมองหาคอนโด

           เพราะบ้านหรือคอนโดมิเนียมไม่ได้มีราคาค่างวดแค่หลักสิบหลักร้อย เมื่อซื้อแล้วไม่ถูกใจหรือมีปัญหาก็ขายทิ้งแล้วหาซื้อใหม่ได้ง่ายๆ ดังที่เป็นข่าวออกมาให้เห็นบ่อยๆ ถึงข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ข้อนี้พ้องกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหายอดนิยมที่ติดอันดับสูงสุดของการร้องเรียนต่อ สคบ. คือปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านจัดสรร แต่ในช่วงปีหลังๆ นี้ เป็นเรื่องของคอนโดมิเนียมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะธุรกิจคอนโดมิเนียมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป

ชี้ช่องมองหาคอนโด

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์

          พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า จากสภาพสังคมความเป็นอยู่และระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่เปลี่ยนไป ธุรกิจคอนโดมิเนียม หรืออาคารชุดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ สคบ.ได้ประกาศให้เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญานั้น ซึ่งจะต้องมีการใช้เงื่อนไขในสัญญาที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค แต่ที่ไม่ว่าจะรัดกุมเพียงใด ก็จะมีการทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สคบ.จึงต้องเพิ่มการดูแล เร่งหามาตรการควบคุมและกำกับดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

          "ปัญหาของผู้ซื้อคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มักเกิดจากการไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด ทำให้เสียเปรียบ และเสียโอกาสไปมากมาย ดังนั้นผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อป้องกันและรักษาสิทธิประโยชน์ของเราเองให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ขึ้นนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ขณะเดียวกัน สคบ.มีเกร็ดความรู้สำหรับการเลือกซื้ออสังหาหลายประการมาแนะนำ อาทิ “ขนาดพื้นที่” ต้องวางแผนถึงความจำเป็นในการใช้สอยว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใด เช่น ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นครอบครัว ซื้อเป็นบ้านหลังที่สอง หรืออาจซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องของ “ราคาขายต่อตารางเมตร” ควรเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ทำเลที่ตั้ง ความสะดวกในการเดินทาง การออกแบบตกแต่ง วัสดุที่ใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ฯลฯ อีกเรื่องที่สำคัญคือ “ที่จอดรถ” แม้ว่าผู้ซื้ออาจยังไม่มีรถก็ตาม แต่ควรมองเผื่อระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะสำหรับอยู่เองหรือซื้อเพื่อเก็งกำไร ต้องดูที่จอดรถพอกับจำนวนยูนิตทั้งโครงการหรือเปล่า และที่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา แต่เริ่มมีเข้ามาร้องเรียนแล้วคือเรื่อง “ลิฟต์” เพราะบางโครงการที่สูงมากๆ กลับใช้วิธีลดต้นทุนโดยการไม่มีลิฟต์ทุกชั้น

          "เรื่อง “การก่อสร้าง” ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ หรือการวางโครงสร้างก็ถือว่ามีความจำเป็น ซึ่งในส่วนนี้ต้องตรวจสอบกับสำนักงานเขตว่ามีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ เพราะตึกยิ่งสูงขึ้นทุกวัน และแต่ละโครงการก็มีนโยบายด้านการรองรับปัญหาแผ่นดินไหวได้ที่แตกต่างกัน รวมถึงระบบตรวจสอบควันและเตือนภัยไฟไหม้ ทางหนีไฟที่เหมาะสม กล้องวงจรปิด รวมทั้งเรื่องวัสดุกั้นผนังห้องมีความหนามากน้อย มีเสียงเล็ดลอดจากเพื่อนข้างห้อง หรือว่าห้องที่อยู่ชั้นบนเวลาเดินแรงๆ จะมีเสียงดังลงมาหรือเปล่า ขณะเดียวกัน “ระบบสาธารณูปโภค” ถือว่ามีความสำคัญมาก กรณีอยู่ชั้นสูงๆ น้ำประปาไหลแรงพอหรือไม่ ถ้าไฟดับมีไฟฉุกเฉินหรือไม่ การเก็บขยะ จัด-ส่งจดหมาย มียามรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมงดีพอหรือไม่" พล.ต.ต.ประสิทธิ์ ให้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น

          นอกจากนี้ พล.ต.ต.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึง “สัญญา” ว่าผู้ซื้อทั่วไปจะละเลยต่อรายละเอียดเพราะมีเนื้อหามาก และเป็นกฎหมายเสียส่วนใหญ่ ดั้งนั้นควรมีนักกฎหมายคอยให้คำแนะนำถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับหรือเสีย ก่อนซื้อต้องรู้ให้ครบทุกข้อ อีกข้อที่สำคัญที่สุดคือ ข้อสัญญาเงื่อนไขต่างๆ จากใบปลิว หรือสื่อโฆษณาที่เป็นตัวชี้ชวนให้ตัดสินใจซื้อ ผู้ซื้อต้องเก็บไว้ให้ดีๆ เมื่อใดที่ผู้ขายผิดสัญญาจะเป็นหลักฐานฟ้องร้องได้ “นิติบุคคลอาคารชุด” ก็คือสิ่งที่ต้องรู้ เช่น ค่าส่วนกลางต้องจ่ายเดือนละเท่าไหร่ ครอบคลุมอะไรบ้าง เพราะนิติบุคคลแต่ละแห่งจะมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่จะเก็บไปเพื่อบริหารจ่ายเป็นค่ารปภ. ค่าไฟฟ้าทางเดิน ลิฟต์ ซ่อมบำรุง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ