ข่าว

 ‘ธุรกิจเบียร์’ครองแชมป์ทำผิด กม.มากสุด เทศกาลสงกรานต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วงเสวนาถอดบทเรียนสงกรานต์ พบธุรกิจเบียร์ครองแชมป์ทำผิดกฎหมายมากสุด เรียกร้องบริษัทเบียร์ ร่วมรับผิดชอบสถิติเจ็บตายสงกรานต์จากเหล้าเบียร์

 

         วันนี้ (21เมษายน2560) เวลา10.00น. ที่โรงแรมเอบีน่าส์เฮ้าส์ ในเวทีเสวนา“ถอดบทเรียนสงกรานต์เมา...ใครกอบโกย ใครสูญเสีย” จัดโดย เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา(Alcohol Watch)สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.)

          นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามการทำผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างวันที่8-17เม.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ศูนย์การค้า สถานบันเทิงผับบาร์ ถนนย่านสถานบันเทิง อุทยานแห่งชาติ และจุดขนส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวม 42 จังหวัด พบว่า มีการกระทำความผิดมากถึง95กรณี ส่วนใหญ่ผิดตามพ.ร.บ.ความคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551มาตรา32ว่าด้วยการโฆษณาและมาตรา30ว่าด้วยการส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม เชิญชวนให้ดื่ม มีของรางวัลตอบแทน 

          รองลงมาเป็นกรณีทำผิด ดื่มสุราในสถานที่ห้ามดื่ม เช่น ดื่มท้ายกระบะ ดื่มในวัด ในสวนสาธารณะ นอกจากนี้ยังพบความผิดคือขายให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปี การขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด การเร่ขาย ขณะเดียวกันยังพบลักษณะการจัดงานคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ ที่ไม่ตรวจบัตรก่อนเข้างาน ลดราคาบัตร แจกเบียร์ก่อนเข้างาน

       “ภาพรวมสงกรานต์ปีนี้สะท้อนชัดเจนว่า ธุรกิจเบียร์ยังยึดพื้นที่สาธารณะ สถานบันเทิง ถนนหน้าห้าง ทำการตลาด   ทำให้เกิดผลกระทบต่อเทศกาลสงกรานต์เป็นวงกว้าง ก่อปัญหาทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุเจ็บตาย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่เคยออกมาร่วมรับผิดชอบความสูญเสีย หรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหล้าเบียร์เลย จึงขอเสนอแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลต้องประกาศมาตรการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัยให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และควรห้ามขายและดื่มสุราในกิจกรรม คอนเสิร์ตต่างๆ เพราะในกิจกรรมดังกล่าวเกือบทั้งหมดมีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สนับสนุน มีการกินดื่มกันจนเมา ขับยานพาหนะออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ สุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เจ็บตาย ซึ่งรัฐบาลควรออกประกาศตั้งตอนนี้ แต่ให้มีผลบังคับใช้สงกรานต์ปีหน้าเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ปรับตัว”นายคำรณ กล่าว

          ผศ.ดร.ศรีรัชลาภใหญ่ ลอยสมุทร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้สะท้อนการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ เช่น การห้ามดื่มบนถนน ซึ่งไม่เคยบังคับใช้ได้เลยทุกสงกรานต์ ขณะเดียวกันทัศนคติของคนไทยที่มองว่า สงกรานต์เท่ากับความสนุก เป็นแรงส่งเสริมให้กระทำ เช่น สาดน้ำผู้อื่น การเต้น การดื่ม กลยุทธ์ที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำมาใช้คือ music marketing ทุกรูปแบบ ผ่านการจัดคอนเสิร์ต รวมทั้งตามร้านเหล้าผับบาร์ จากผลสำรวจปี59 พบว่า สงกรานต์ทำให้เกิดการดื่มเพิ่ม 0.5-2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงปกติ การเมาหลังการดื่มเพิ่มขึ้น1เท่า เมาแล้วขับเพิ่มขึ้น1-2เท่าในเทศกาลสงกรานต์ ปัญหาอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 15 เท่าเมื่อเทียบกับเวลาปกติ ปัญหาการวิวาท เพิ่มขึ้น 4-5 เท่า กลุ่มตัวอย่าง72.4%ระบุว่าดื่มมากที่สุด คือ การดื่มในเทศกาลสงกรานต์ 80%ยอมรับว่าเมาในวันสงกรานต์55.5%ยอมรับว่า เมาแล้วขับในวันสงกรานต์และ15.3% เกิดอุบัติเหตุในวันนี้ รวมทั้งมีภาระหนี้สินเพิ่มจากวันสงกรานต์ 5-10% จากค่าใช้จ่ายการดื่ม-อุบัติเหตุ-เจ็บป่วย-เดินทาง

         “เมื่อเทียบกับทุกเทศกาลแล้ว การดื่มในวันสงกรานต์จะสูงกว่าทุกเทศกาล เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนดื่ม มีผลกระทบต่อการเกิดอุบัติเหตุ วิวาท เจ็บป่วยรักษาพยาบาล และเริ่มขาดมิติด้านวัฒนธรรมประเพณีไปเรื่อยๆในสายตาของคนไทย ส่งผลให้แสวงหาความบันเทิงในเทศกาลนี้ จนกลายเป็นช่องว่างให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเสนอความบันเทิงแทรกเป็นกลยุทธ์ในเทศกาลนี้ได้”ผศ.ดร.ศรีรัชกล่าว

          นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากการทำงานในระดับพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์สร้างสรรค์ปลอดภัยปลอดเหล้ามากว่า10 ปี จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกระแสกว่า150แห่ง แบ่งเป็น เกิดถนนตระกูลข้าว50แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำถนนต่างๆ100แห่งทั่วประเทศซึ่งปีนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นเจ้าภาพจัดงานคุมพื้นที่ทำให้สงกรานต์กว่า90%เป็นพื้นที่ปลอดเหล้าอย่างแท้จริง เช่นศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต สยาม เซ็ลทรัลเวิลด์ และถนนข้าวเหนียว ขอนแก่น ที่ทำลายสถิติคนร่วมงานมากที่สุดในประเทศ รวมถึงงานวันไหลที่อุทัยธานี และอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับความร่วมมือและเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่น่าสนใจคือ สีลมจากเมื่อก่อนที่มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กว่า902จุด แต่ปีนี้แทบไม่มีให้เห็น เปลี่ยนเป็นขายน้ำเปล่า หรือบริการเติมน้ำแทน และคนยังมากมายเช่นเดิม อีกทั้งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศมากขึ้น เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกทม.อย่างไรก็ตามภาพรวมสงกรานต์ที่ผ่านมาถือว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหายังเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สะท้อนจากผลโพล79.1%ที่ระบุว่าเหล้าเป็นตัวการทำลายความสุขช่วงสงกรานต์ ดังนั้นหากอยากให้สังคมปลอดภัยแค่ไหน ก็ต้องกำหนดพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำที่ปลอดเหล้ามากขึ้นเท่านั้น และฝากไปยังธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ