ข่าว

“จรัมพร” ปราบโกงด้วยวิทยาศาสตร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตผู้การสพฐ. สวมบทบอร์ด ป.ป.ท.ยังคงใช้นิติวิทยาศาสตร์ปราบทุจริต ยกตัวอย่างโครงการอุดกลบบ่อบาดาล 4,800 บ่อ งบฯ 103 ล้าน ปิดเกมด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

      เมื่อได้ยินชื่อ พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อดีตที่ปรึกษา (สบ10) ด้านสืบสวนโดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ หลายคนคงเกิดคำถามคาใจว่า  นักวิทยาศาสตร์อย่าง “จรัมพร”  จะมาสวมบทบาทใดในภารกิจปราบโกง
        “บิ๊กปั้น” พูดคุยแบบเปิดอกถึงการทำงานในฐานะบอร์ดขององค์กรปราบทุจริตว่า ทุกวันนี้เขายังเคยชินกับรูปแบบและวิธีคิดในสไตล์นักนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อเห็นแผนประทุษกรรมในการทุจริตโครงการของรัฐ ภาพที่มองเห็นแบ่งตัวเป็นชาร์ตที่โยงใยถึงรูปแบบการกระทำความผิด และอดไม่ได้ที่จะต้องวิเคราะห์แผนประทุษกรรมไปพร้อมๆกับการแสวงหาหลักฐานด้วยวิทยาศาสตร์  เป้าหมายคือมัดตัวคนร้ายให้แน่นชนิดดิ้นไม่หลุด ยาวไปสามศาล 
        ยกตัวอย่างบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณอุดกลบบ่อบาดาล โครงการปีงบประมาณ 2554 และ 2555 ซึ่งกระจายอุดกลบทั่วประเทศ กว่า 4,800 บ่อ งบประมาณ 103 ล้านบาท โดยเริ่มต้นจากการนำตำแหน่งหรือพิกัดที่ตั้งของบ่อบาดาลมาเปรียบเทียบกับกูเกิลแมป ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของบ่อบาดาลแต่ละบ่อได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนป.ป.ท.ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบบ่อบาดาลที่อุดกลบได้อย่างแม่นยำ  โดยกำหนดให้เลือกสุ่มตรวจบ่อที่ใกล้กับชุมชน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นพยานบุคคล
        “ตามขั้นตอนการอุดกลบที่กำหนดในสเป็ค ผู้รับเหมาต้องเริ่มจากการไล่น้ำออกจากบ่อโดยใช้อุปกรณ์เป่าลมก่อนเทปูน ซึ่งเครื่องเป่ามีขนาดใหญ่ หากอุดกลบตามมาตรฐานชาวบ้านต้องเห็นเครื่องมือดังกล่าว  วัสดุที่ใช้อุดกลบต้องเป็นปูน 100% ห้ามผสมหินหรือทรายเด็ดขาด จากนั้นต้องกดอัดด้วยเครื่องอัดปูน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลเข้าไปปนเปื้อนในชั้นน้ำบาดาล”
        ในการลงพื้นที่ตรวจสอบพบหลักฐานส่อถึงการทุจริตมากมาย เช่น ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าไม่พบเห็นการใช้เครื่องมือเป่าลมหรือเครื่องอัดปูน  ใบเสร็จน้ำมันที่นำมาใช้เบิกจ่ายในขั้นตอนของการเป่าลมไล่น้ำ ก็เป็นใบเสร็จปลอม ราคาน้ำมันในวันที่ออกใบเสร็จไม่ตรงกับราคาขายประจำวัน   ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ที่ระบุในใบเสร็จไม่ได้จำหน่ายสินค้าตามรายการ ภาพถ่ายการอุดกลบบ่อบาดาลหลายบ่อเป็นภาพถ่ายเดียวกัน  
         แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและได้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ... เพราะทราบมาว่ากรมน้ำบาดาลมีนโยบายอุดกลบบ่อน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่องในช่วง 10ปี กว่าแสนบ่อ โดยกรมน้ำบาดาลสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ต้องรอให้ชาวบ้านร้องขอ  ไม่นับรวมกับบ่อบาดาลที่อุดกลบไปแล้วจำนวนมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าป.ป.ท.ไม่มีกำลังเพียงพอ  ผมจึงประสานไปยังกรมโยธาธิการ ซึ่งมีเครื่องมือเจาะปูนออกมาตรวจสอบ ทำให้พบหลักฐานว่ามีการใช้วัสดุผิดไปจากสเป็ค มีการนำหินมาผสมกับปูน  บางบ่อก็เทอุดกลบบางๆแค่ปากบ่อเพื่อตบตากรรมการตรวจรับ  คำนวณแล้วพบว่าผู้รับเหมามีค่่าใช้จ่ายเพียงบ่อละ  3,000บาทเท่านั้น แต่ตั้งเบิกงบประมาณค่าอุดกลบบ่อละ 18,000 บาท 
        “ผลการตรวจสอบเบื้่องต้นพบหัวหน้าชุดอุดกลบบ่อบาดาล 97 ราย และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติประจำชุดอุดกลบชุดละ 2-3 ราย  นับรวมได้หลายร้อยราย  พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ซี 2 ซี 3สามารถเบิกเงินในโครงการได้ครั้งละ 5-8แสนบาท และเมื่อตรวจสอบสถานที่ตามใบเสร็จกลับพบเป็นที่อยู่บ้านญาติของเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีการใช้ที่อยู่ใบเสร็จเดียวกันในหลายชุดอุดกลบด้วย  ซึ่งจะขยายผลด้วยการตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไป สำหรับอธิบดีกรมน้ำบาดาลปัจจุบันถูกโยกย้ายแล้ว”  
          พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวถึงแนวทางการตรวจสอบโครงการอุดกลบบ่อบาดาลว่าได้วางกรอบให้เจ้าหน้าที่ว่าจะต้องตรวจสอบสิ่งใดบ้าง โดยทุกบ่อจะมีการเจาะดึงแท่งปูนออกมาตรวจสอบร่วมกับสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) เพื่อพิสูจน์ในชั้นศาลว่าเป็นการอุดกลบผิดไปจากสเป็ค เชื่อว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบอีกไม่นาน ซึ่งเจ้าหน้าที่แต่ละรายมีความผิดทุจริตต่อหน้าที่รายละไม่น้อยกว่า 2 บ่อ ส่วนใหญ่กระทำผิดเพราะไม่คิดว่าจะมีการตรวจสอบ  ทั้งนี้พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายความผิดทางอาญาทำเอกสารเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีต่อไป โดยเชื่อว่า หากแก้ไขการทุจริตได้ GDPของไทยจะปรับตัวได้อีกจำนวนมากถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ