ข่าว

"อดีตผู้ว่าฯททท."อ่วม..!!! เจอคุก 50 ปี"รับสินบน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก 50 ปี "อดีตผู้ว่าททท.” รับสินบนข้ามชาตินักธุรกิจเมืองลุงแซม จัดงานจัดงานภาพยนตร์นานาชาติ บางกอกฟิล์ม ส่วน"ลูกสาว"ก็อ่วมเจอคุก 44 ปี

 

          29 มี.ค. 60 - เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีสินบนข้ามชาติ หมายเลขดำ อท.46/2559 ที่ อัยการคดีพิเศษ เป็น 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 70 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 43 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน เป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ , เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต , เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.รบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 , 11 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนรอราคาหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 12 จากกรณีรับเงินตอบแทน สามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002 - 2007 (หรือปี พ.ศ.2545 – 2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท โดยอัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 ที่ผ่านมา

          โดยวันนี้ นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท. จำเลยที่ 1  และ น.ส.จิตติโสภา บุตรสาว จำเลยที่ 2 มาศาลในชุดดำพร้อมกับนายธนกร แหวกวารี ทนายความ ซึ่งระหว่างการอ่านคำพิพากษา ทั้งสองคนมีสีหน้าเรียบเฉย แต่ก็ได้ถอนหายใจเป็นระยะๆ โดยศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานร่วม 3 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ขณะที่วันนี้มีบุคคลใกล้ชิด 5-6 คนมาร่วมให้กำลังใจ และมีบุคคลต่างชาติ 2-3 คนมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

          ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วินิจฉัยพยานหลักฐานที่ได้ไต่สวนมาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า การจัดจ้างโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มีการกำหนดเงื่อนไขโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น เอกสารประกอบการจ้างไม่สมบูรณ์การปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2538 โดยเฉพาะโครงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2546 ไม่เป็นการจ้างบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ที่เคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถผลงานมาแล้ว และไม่มีคู่แข่งขันรายงาน อันมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นและเอื้ออำนวยแก่บริษัทของนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน ซึ่งมีการคบคิด ตกลงวางแผนกันล่วงหน้าระหว่างนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 กับนายเจอรัลด์ กรีน โดยใช้บริษัทต่างๆ ที่นายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคู่สัญญาเพียง 3 บริษัท รับสัญญาจ้าง อันมีลักษณะเป็นช่องทางเพื่อให้ได้รับสัญญาจ้างและสัญญาจ้างช่วง เพื่อจัดหาสินค้าและให้บริการแก่ ททท.

          ซึ่งวิธีการดังกล่าวแสดงโดยชัดแจ้งว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 แนะนำให้นายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน จัดตั้งบริษัทเข้ามาเป็นคู่สัญญา กับ ททท. รวมถึงบุคคลธรรมดาที่ร่วมทำงานกับธุรกิจกรีน เกี่ยวกับโครงการภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ ในครั้งนี้

          พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 12 และฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เรียกรับเงินสินบนจากนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน  โดยมีการโอนเงินไปยัง น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 และเพื่อนจำนวน 59 รายการเป็นเงิน 1,822,294 เหรียญสหรัฐ

          โดยพยานหลักฐาน มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า การกระทำของนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สิน หรือจะยอมรับทรัพย์สิน เพื่อกระทำการใดในหน้าที่ฯ และยังเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ททท. และบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจการ์ด จำกัด โดยเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้เพื่อตนเอง กับนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีนกับพวก ซึ่งเป็นงบประมาณของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ,12  

          ส่วนนางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า ไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ฐานะผู้ว่าฯ ททท. และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดจ้างโครงการภาพยนตร์นานาชาติ และ บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจการ์ด จำกัด กับ น.ส.จิตติโสภาจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าเงินในบัญชีธนาคารจำนวน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัวกับนายเจอรัลด์ กรีน และบริษัทคอนซัลเทเซีย จำกัด โดยไม่เกี่ยวกับมารดาจำเลยที่ 1 นั้น ฟังไม่ขึ้น

          และมีประเด็นต้องวินิจฉัยอีกว่า ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ริบทรัพย์จากการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่ ซึ่งคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐ ปรากฏอยู่ในบัญชีเงินฝากต่างๆ ของ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 ที่ธนาคารในต่างประเทศและที่อื่นๆ โดยมีจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิด ทรัพย์สินดังกล่าวจึงถือได้มาจากการกระทำความผิด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ริบเงินจำนวนนั้น แต่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ได้บัญญัติให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการริบทรัพย์สินที่บุคคลได้มาโดยการกระทำความผิดได้

          การที่นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย มาก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 กำหนดโครงการต่างๆ ขึ้น บุคคลทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตและแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่ร่วมกันกำหนดขึ้นการทำสัญญาทุกขึ้นตอนอำพรางขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีประสบการณ์และไม่มีคุณสมบัติ สัญญาดังกล่าวข้างต้นขัดต่อข้อบังคับของททท.ว่าด้วยการพัสดุ พฤติการณ์เป็นการทุจริตร่วมกันตั้งแต่ชั้นเริ่มทำสัญญา และต่อมาเมื่อ ททท. จ่ายเงินให้แก่กลุ่ม บริษัทธุรกิจกรีนแล้ว นายเจอรัลด์กับนางแพทริเซีย ได้โอนเงินและสั่งจ่ายเช็ค เข้าบัญชีธนาคารในต่างประเทศ ที่ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีไว้ สัญญาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          นอกจากนี้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ยังได้กำหนดมาตรการริบทรัพย์สินตามมูลค่าในมาตรา 33 ไว้และเนื่องจากเงินที่ศาลสั่งริบ จำนวนดังกล่าว รวมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ กรณีมีเหตุสมควรที่จะกำหนดมูลค่าของเงินดังกล่าวไปอีกทางหนึ่งด้วย อาศัยอำนาจตาม มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ให้กำหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบอันเป็นมาตราทางอาญา เป็นเงิน 62,724,776 บาท

          ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง จึงพิพากษาว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ ( ฮั้วประมูล) ม.12 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การรัฐฯ ม. 6 , 11 และ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 บุตรสาว มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การรัฐฯ ม.6 , 11

          ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยให้จำคุกนางจุฑามาศ อดีต ผู้ว่า ททท.จำเลยที่ 1 ตามพ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การฯ ตาม.6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เป็นเวลา 50 ปี

          และจำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 บุตรสาว 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี  โดยศาลมีคำสั่งให้ริบเงินกระทำผิดจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย ซึ่งศาลให้กำหนดมูลค่าสิ่งที่สั่งริบดังกล่าว ตามมาตรการสำหรับคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นเงินจำนวน 62,724,776 บาท   

          ภายหลังนายธนกร แหวกวารี ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เดิมเป็นเงินสด คนละ 1 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท. อายุ 70 ปี และ น.ส.จิตติโสภา บุตรสาวอายุ 43 ปี ระหว่างยื่นอุทธรณ์คดี

          ด้านนายนิกร ทัสสโร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวถึงเรื่องปล่อยชั่วคราวว่า ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนี จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันต่อไป

          ขณะที่นายธนกร ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ สำหรับทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 1.8 ล้านบาทเศษนั้น เป็นเงินอยู่ในบัญชีธนาคารต่างประเทศ ซึ่งศาลกำหนดมูลค่าประมาณ 62 ล้านบาท  

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค.59 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาพิจารณาคดีเสร็จสิ้นใน 1 ปี นับจากวันที่อัยการยื่นฟ้องคดีเมื่อปี 2558 ซึ่งฝ่ายนางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท. และบุตรสาว นำพยานบุคคล เข้าไต่สวนต่อมาศาล กว่า 10 ปากและตัวนางจุฑามาศ และบุตรสาวก็เข้าไต่สวนฐานะจำเลยด้วย และยังมีชาวต่างชาติ 3 รายซึ่งเป็นทนายความสามี-ภรรยานักธุรกิจภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันในชั้นศาลอุทธรณ์ในต่างประเทศ และผู้ร่วมงานกับสามี-ภรรยาชาวอเมริกันร่วมเป็นพยานไต่สวนด้วย

          โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งสำนวนให้อัยการ ซึ่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดให้ฟ้อง โดยอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 ได้ยื่นฟ้อง นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท. และบุตรสาว ต่อศาลเป็นคดีหมายเลขดำ อท.14/2558เมื่อวันที่ 25 ส.ค.58 ซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ