ข่าว

3 อำเภอ“สระแก้ว”เผชิญภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อธิบดี ปภ.”ระบุปริมาณน้ำเขื่อนหลักมากว่าปี 59  เผย “สระแก้ว” ประเดิมรับภัยแล้งพื้นที่แรกอ่วม 3 อำเภอ

       28 มี.ค.60 –  นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) กล่าวสรุป สถานการณ์ภัยแล้งว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า เขื่อนหลักทั่วประเทศมีปริมาณน้ำมากกว่าปี พ.ศ.2559 ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่งมีปริมาณน้ำจำกัดจึงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำไว้อุปโภคบริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ส่วนในภาคการเกษตรปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง และอำเภอวัฒนานคร  13 ตำบล 85 หมู่บ้าน 

        “ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 11 เครื่อง สนับสนุนการสูบน้ำเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน พร้อมจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคไปแล้ว 1,068,000 ลิตร" อธิบดี ปภ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังได้ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้ล่วงหน้าครอบคลุมทุกด้าน จัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็นน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมประเมินความต้องการใช้น้ำ จำนวนครัวเรือนที่อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหากรณีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน 

        อธิบดีปภ. กล่าวว่า สำหรับการสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำจะดำเนินการควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน โดยแยกเป็น อำเภอ ตำบล หมู่บ้านให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด รวมถึงตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอ ให้กำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม อีกทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนทราบตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด 

          นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และมีตลาดรองรับผลผลิต นอกจากนี้ให้วางแผนการจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึง โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ด้วยการจัดรถบรรทุกน้ำและระดมรถสูบน้ำระยะไกลสูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำต่างๆ ไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาใช้ประโยชน์จากน้ำทุกแหล่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำตามมาตรการ 1ตำบล 1 แหล่งกักเก็บน้ำ ขุดเจาะ และเป่าล้างบ่อบาดาล พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำส่งน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงประสานจัดทำฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ