ข่าว

10 ข้อควรจำ คู่มือ"หนีตาย" ไฟไหม้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้ออก 10 คำแนะนำการ"เอาตัวรอด" จากเหตุไฟไหม้บนอาคารสูง

ภัยใกล้ตัวอย่างเหตุไฟไหม้ มักจะเกิดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนรวมถึงเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ ตั้งแต่ปีใหม่ ตรุษจีน หรือสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงประชาชน"หยุดยาว" หากเกิดไฟไหม้จากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร จะเพิ่ม"ดีกรี" ความเสี่ยงต่ออาคารสำนักงานหรือบ้านพักได้ทันที โดยเฉพาะความเสี่ยงของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบสายไฟฟ้า หากไม่ได้รับการตรวจตราซ่อมแซมเป็นประจำให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดเพลิงไหม้ในอาคารได้ทุกเมื่อ 

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้ออก 10 คำแนะนำการ"เอาตัวรอด" จากเหตุไฟไหม้บนอาคารสูง ดังนี้ 

1.โดยปกติ อาคารสูง คอนโดมิเนียม โรงแรม ได้ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ก่อนเข้าไปพักอาศัย หรือจองห้องพักโรงแรม ให้สอบถามว่ามีเครื่องป้องกันควันไฟ และอุปกรณ์น้ำฉีดอัตโนมัติบนเพดานหรือไม่ เมื่อเข้าอยู่อาศัยให้อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีเพลิงไหม้

2.หาทางออกฉุกเฉินสองทางที่ใกล้ห้องพัก ตรวจสอบดูว่าทางหนีฉุกเฉิน ปิดล็อคตายหรือมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ให้นับจำนวนประตูห้อง โดยเริ่มจากห้องที่เราพักอาศัยสู่ทางหนีฉุกเฉินทั้งสองทาง เมื่อทำเช่นนั้นก็จะสามารถไปถึงทางหนีฉุกเฉินได้ ถึงแม้ว่าไฟจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน

3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู และเปิดประตูได้ภายในความมืด วางกุญแจห้องพัก และไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอน ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีลงจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง

5.หากได้ยินสัญญาณเพลิงไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด

6.ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที เมื่อหนีออกมาแล้วให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งเพลิงไหม้

7.ถ้าไฟไม่ได้เกิดขึ้นในห้องพักของเรา ให้หนีออกจากห้อง ก่อนอื่นให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆเปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู ในห้องของเราอาจจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ โทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง แจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใด และกำลังตกอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียก ๆ ปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณของความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

9.คลานให้ต่ำ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง หากต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ ให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางหนีฉุกเฉิน ให้นำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพักได้

10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้ ลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นเพลิงไหม้ ให้ใช้บันใดภายในอาคาร

ทั้งหมดจึงเป็น 10 แนวปฏิบัติการเอาตัวรอด ต่อเหตุไฟไหม้อาคารและที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกวินาทีมีชีวิตเป็นเดิมพันทั้งสิ้น 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ