ข่าว

มาเลย์กว้านซื้อลูกปลากะพงขาวไทยเลี้ยงบ่อดินส่งตีตลาดในปท.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาเลเซียกว้านซื้อลูกปลากะพงขาวในประเทศไทยไม่อั้น หลังขาดแคลนหนัก เพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อดินแล้วส่งกลับมาขายในประเทศไทยแข่งขันตัดราคาปลากะพงขาวในประเทศไทย

 

          วันที่ 23 มี.ค.60 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 6 สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาวจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังทั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ขณะนี้ได้เร่งผลิตลูกปลากะพงขาวให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ รวมทั้งเกษตรกรที่ประสบปัญหาในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายอำเภอของจังหวัดสงขลา โดยนำปลากะพงขาวไปเลี้ยงทดแทน

          ในขณะเดียวกัน ทางประเทศมาเลเซียก็มีความต้องการลูกปลากะพงขาวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะขนาดความยาว 3 – 4 นิ้วหรือที่เรียกว่าขนาดปลาขุน เพื่อนำลูกปลากะพงขาวไปเลี้ยงในบ่อดิน ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยติดต่อผ่านมายังเกษตรกรที่มาซื้อลูกปลากะพงขาวที่ศูนย์วิจัยฯ เป็นประจำ 2 – 3 คนโดยแจ้งความจำนง ขอให้ผลิตลูกปลากะพงขาวส่งให้เดือนละ 1- 2 แสนตัวแบบรับไม่อั้น เพื่อส่งไปยังรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย นำไปเลี้ยงในบ่อดิน

          เนื่องจากในประเทศมาเลเซียขาดแคลนลูกปลากะพงขาวเป็นจำนวนมาก แหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาวอาจมีปัญหาเพาะพันธุ์ไม่ติด ทำให้ขณะนี้ทางมาเลเซียขาดแคลนลูกปลากะพงขาว จึงมีความจำเป็นต้องหาลูกปลากะพงขาวจากแหล่งเพาะพันธุ์ของกรมประมงที่ผลิตลูกปลากะพงขาวที่มีคุณภาพจากประเทศไทย
    
          สำหรับราคาลูกปลากะพงขาวขุน ขนาด 3 – 4 นิ้ว ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 10-12 บาท ซึ่งจะมีขายที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเกษตรกรมาซื้อลูกปลากะพงขาวขนาด 1 เซนติเมตร ราคาตัวละ 1 บาท จากศูนย์วิจัยฯสงขลาแล้วนำไปเลี้ยงต่อจนขุนได้ขนาด 3 – 4 นิ้ว จึงจับขายในราคาตัวละ 10 – 12 บาท

          ดร.อัตรา ไชยมงคล นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 6 สงขลา เปิดเผยว่า เมื่อ 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา ในฐานะหน่วยงานที่ผลิตลูกปลากะพงขาวเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ปรากฏว่า มีเกษตรกรรายย่อยที่รับลูกปลาของเราไปอนุบาลอยู่เป็นประจำ มาติดต่อเนื่องจากมีการสั่งซื้อลูกปลากะพงขาวมาจากมาเลเซีย เป็นปลาขนาด 3 – 4 นิ้ว สามารถรับได้ 1 – 2 แสนตัวต่อเดือน เพื่อส่งเข้ามาเลเซียได้ทุกเดือน โดยมาติดต่อกับทางเรา เพื่อให้เราผลิตลูกปลาขนาดเล็กให้กับเขา

          ซึ่งผมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ การที่เกษตรกร หรือนายทุนในมาเลเซีย มีความต้องการปริมาณปลาเยอะต่อเดือนขนาดนี้ อาจเป็นไปได้ที่เขาอาจมีการขยายวิธีการเลี้ยงได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่มีผลกระทบตามมาในระยะสั้นกับพี่น้องเกษตรกรในบ้านเราก็คืออาจจะมีการแข่งขันในด้านราคา เนื่องจากมาเลเซียนำปลากะพงขาวมาขายในประเทศไทย ทำให้เกษตรกรของเราแข่งขันสู้ในเรื่องของราคาไม่ได้ ยังไงเกษตรกรของเราก็จะต้องเตรียมตัวและปรับตัว หาวิธีการเลี้ยงปลาเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นให้ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ