ข่าว

โลกร้อนแพนกวิน-แมวน้ำขั้วโลกรอดยาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิจัยคณะวิทย์ จุฬาฯ ชี้โลกร้อนจากน้ำมือมนุษย์ กระทบขั้วโลกอุณหภูมิสูงขึ้น พบแพนกวิน แมวน้ำมีอัตราการรอดชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 ทำพยาธิขั้วโลกเพิ่ม

        “จากขั้วโลกใต้ถึงไทย" เปิดข้อมูลการค้นพบใหม่โดยนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยรศ.ดร. พิษณุพงศ์  กาญจนพยนต์  อาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่เพิ่งกลับจากเข้าร่วมสำรวจขั้วโลกภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการสำรวจขั้วโลกใต้ที่สถานีวิจัยเกรทวอล และกลับถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ค้นพบว่า การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกบริเวณขั้วโลกใต้มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากเป็นบริเวณที่แผ่นเปลือกโลก

        ทั้งแผ่นหลักและแผ่นย่อย เคลื่อนที่เข้าหาและแยกออกจากกัน ชุดหินภูเขาไฟที่พบในพื้นที่ศึกษานี้  สันนิษฐานว่าเป็นแนวภูเขาไฟ ที่เกิดจากการชนกันหรือเคลื่อนที่เข้าหากันของ 2 แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโซนที่มีภูเขาไฟบนโลกใบนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับขอบเขตของแผ่นเปลือกโลก ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด หรือบางบริเวณอาจเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ

           รศ. ดร. ฐาสิณีย์  เจริญฐิติรัตน์ อาจารย์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  ที่เพิ่งกลับจากเข้าร่วมสำรวจขั้วโลกภายใต้โครงการขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ขั้วโลกใต้  และมีหินภูเขาไฟ ซึ่งมีหินตะกอนที่ได้จากเถ้าภูเขาไฟ  พอตกมาสู่พื้นโลกมีการเรียงชั้น ซึ่งเราได้มีการศึกษาทางธรณีวิทยา จากหินตะกอนภูเขาไฟ  พบว่า อดีตมีต้นไม้ และฟอสซิลใบไม้ในพื้นที่ขั้วโลกที่อายุประมาณ 47 ถึง 23 ล้านปีที่ผ่านมา  ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีในอดีต  แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศในอดีตของขั้วโลกใต้อบอุ่นกว่าปัจจุบันนี้มาก

        แต่ภายหลังต้นไม้สูญพันธุ์จนหมดเพราะอากาศที่ขั้วโลกหนาวเย็นขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากทวีปแอนตาร์กติกได้เคลื่อนที่ลงใต้มากขึ้นจนอยู่ ณ ตำแหน่งปัจจุบัน  อุณหภูมิโดยรวมจึงต่ำลงจากในอดีตเมื่อ 20 ล้านปีที่ผ่านมา  

         ขณะที่รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกผู้ศึกษาวิจัยทางทะเลที่ขั้วโลกใต้ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  คณะวิทยาศาสตร์  และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงจากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเลที่ขั้วโลกใต้ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา   พบว่า ระบบนิเวศทางทะเลที่ขั้วโลกใต้เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น  ไม่เพียงแต่น้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายมากขึ้น แต่บางแห่งของทวีปแอนตาร์กติกน้ำแข็งกลับหนาขึ้นกว่าเดิม 

            ทั้งนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นและลดลง เป็นได้ทั้งโลกร้อนและโลกเย็นในทวีปแอนตาร์กติก เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะโลกหมุนก๊าซเรือนกระจกก็จะไปตกที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ มีระดับที่สูงกว่าปกติ นอกจากนั้นการที่อุณหภูมิในน้ำทะเลสูงขึ้นและน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น  หรือเพิ่มมากขึ้น  มีผลกระทบต่อเพนกวิน  และแมวน้ำ ทำให้อัตราการรอดของลูกเพนกวิน และแมวน้ำลดลงกว่าเดิมมาก  โดยอัตราการรอดของลูกเพนกวินและแมวน้ำ ในปัจจุบันน้อยกว่า 10% 

            ขณะเดียวกัน พบว่ามีพยาธิบนตัวปลาและในกระเพาะลำไส้ของปลาขั้วโลกมากขึ้น  แสดงให้เห็นว่ามีเชื้อโรคสูงขึ้น  เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติมากเท่าไร โอกาสที่จะมีพยาธิหรือเชื้อโรคบนตัวสัตว์ทะเลจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น จากการเปรียบเทียบพบว่าปลามากกว่า 80%  มีพยาธิ และจำนวนพยาธิเพิ่มขึ้นทุกปี จากในอดีตที่ไม่พบพยาธิ โดยปริมาณพยาธิที่เพิ่มขึ้นประมาณ 15% ต่อปี และอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการว่ายน้ำและการกินอาหารของปลา   เพราะเมื่อก่อนกินกุ้งเคย แต่ตอนนี้มากินพวกหอย และหมึก ทำให้เห็นว่าจำนวนประชากรกุ้งเคยลดลง และอาจทำให้ปลาตายในที่สุด

          “จากการศึกษาพื้นที่ขั้วโลกใต้ หรือทวีปแอนตาร์กติก เป็นการเตรียมตัวว่าจะเกิดสถานการณ์ขึ้นอะไรกับประเทศไทยได้บ้าง เช่น ส่งผลกระทบต่อทะเลไทย เพราะทะเลเป็นผืนเดียวกัน ติดต่อกัน อะไรที่เกิดขึ้นในแอนตาร์กติกก็เกิดขึ้นที่ประเทศไทยได้  อย่าง ในแง่ผลกระทบ ถ้าน้ำแข็งละลาย ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น  ซึ่งถ้าน้ำทะเลสูง 50 เมตร เท่ากับอนุสาวรีย์ของไทย เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง หรือปัจจุบันอุณหภูมิน้ำทะเลขั้ว โลกสูงขึ้น เฉลี่ย 1 องศา ซึ่งจะเกี่ยวกับปะการังฟอกขาว เพราะน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นเช่นกัน และปะการังเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว รวมถึง พยาธิที่เกิดขึ้นในทวีปแอนตาร์กติก ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร สัตว์เริ่มหาอาหารไม่ได้ และมีผลกระทบต่อทะเลในไทย” รศ. ดร. สุชนา กล่าว

         รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์  นักวิทยาศาสตร์ชายไทยคนแรกที่ไปขั้วโลกใต้  ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการสำรวจช่วง 13 ปี ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547) ร่วมกับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นและจีนในการไปร่วมสำรวจขั้วโลกใต้ที่ติดตามสถานการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างใกล้ชิด ว่าจากการสำรวจ   พบว่าที่ทวีปแอนตาร์กติกทางด้านตะวันออกมีการเพิ่มของน้ำแข็งที่มากกว่าปกติ  ในขณะที่ทางด้านตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกมีการละลายของน้ำแข็งที่มากกว่าปกติ  เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง  จึงทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดได้รับผลกระทบ  เกิดการตาย  และเกิดการระบาดของพยาธิที่ขั้วโลก  

        จากการสำรวจของประเทศไทยโดยนักวิจัยจากจุฬาฯ ที่ได้มีโอกาสไปสำรวจที่ขั้วโลกใต้ร่วมกับเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ของประเทศจีน และญี่ปุ่น ในระยะเวลา 13 ปี ชี้ให้เห็นว่าทวีปแอนตาร์กติก  ซึ่งเป็นทวีปที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร และเป็นทวีปที่บริสุทธิ์ที่สุด  ขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยและคนทั่วโลกควรเริ่มที่จะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ถุงพลาสติก ลดการใช้กล่องโฟม เพื่อลดผลกระทบที่จะไปทำให้ระบบนิเวศทั้งที่ทวีปแอนตาร์กติก และที่อื่น ๆ ได้รับผลกระทบมากกว่านี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ