ข่าว

ค้านอสส.แก้กม.ลดอายุทำงานอัยการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อธ.อัยการปกครองพิษณุโลก"เตรียมยื่น ปธ.สนช. 22 มี.ค.ค้าน "อัยการสูงสุด" เสนอแก้กม.อัยการ ลดอายุทำงานเหลือ 65 จาก 70 อัยการเสียสิทธิเลื่อนตำแหน่งกว่า 500 คน

          20 มี.ค. -- นางชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในวาระแรก ในวันที่ 30 มี.ค. ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขอายุของพนักงานอัยการที่ดำรงตำแหน่งทางบริหารให้เหลืออยู่เพียง 65 ปี แล้วสามารถดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสต่อได้ แต่อัยการอาวุโสนั้นจะไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ว่า ในวันพุธที่ 22 มี.ค.นี้ เวลา 13.30 น.ตนพร้อมด้วยพนักงานอัยการจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเดินทางไปยื่นหนังสือขอมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อัยการ พ.ศ.2553 ตามยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาล ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย  ประธาน สนช. ที่อาคารรัฐสภา พร้อมแถลงข่าวต่อไป

        นางชนิญญา กล่าวอธิบาย การคัดค้านร่างกฎหมายว่า การเสนอร่างดังกล่าว เป็นการขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ ใน มาตรา 248 ที่กำหนดให้พนักงานอัยการ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงอัยการอาวุโสสามารถรับเลือกตั้งเป็นก.อ.ได้ และขัดกับมาตรา 77 ที่กำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านก่อนและยังขัดต่อยุทธศาสตร์ประชารัฐในเรื่องการมีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตยที่รัฐบาลประกาศอย่างชัดแจ้ง เพราะร่างดังกล่าวนั้น ปราศจากการมีส่วนร่วมจากเหล่าพนักงานอัยการที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไข ซึ่งเป็นการสร้างความแตกแยก สร้างความไม่เป็นธรรม ไม่เคารพสิทธิของพนักงานอัยการ 

        โดยพนักงานอัยการที่ได้รับผลกระทบ ก็เสียสิทธิไปแล้วถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งที่ 1. พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ.2553 ได้มีการขยายอายุการทำงานของพนักงานอัยการจาก 60 เป็น 70 ปี ทำให้ผู้บริหารในขณะนั้นได้ขยายเวลาการรับราชการของตนขึ้นไปโดยพนักงานอัยการที่อยู่ในลำดับอาวุโสต่ำกว่าย่อมจะเสียสิทธิในการเลื่อนตำแหน่ง ช้าลงไป 2 ปี 4 ปี หรือ 6 ปีบ้างโดยมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 104 สรุปการชดเชยการเสียสิทธิไว้ว่าภายในระยะเวลา 10 ปีแรกนับแต่กฎหมายบังคับใช้ให้ข้าราชการอัยการพ้นจากตำแหน่งโดยเรียงลำดับชั้นเป็นขั้นบันใด ซี่งการชดเชยนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อครบ 10 ปีของการบังคับใช้กฎหมาย

          ครั้งที่ 2 คือร่างครั้งนี้ที่ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ อัยการสูงสุด ได้เสนอให้พนักงานอัยการดำรงตำแหน่งทางบริหารได้เพียงอายุ 65 ปี ซึ่งจะส่งผลให้มีพนักงานอัยการเสียสิทธิในการดำรงตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งในทางบริหารจำนวน 519 คน จากพนักงานอัยการทั้งองค์กร จำนวน 3,626 คน ขณะที่ร่างดังกล่าวนี้ยังจะกำหนดให้อัยการอาวุโส ไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งให้เป็น ก.อ. ซึ่งหลักดังกล่าวถือ เป็นการขัดหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน โดยมีอัยการอาวุโส เสียสิทธิ 383 คน

         "เดิมทีเดียวกฎหมายปี 53 ให้ขยายอายุราชการอัยการเป็น 70 ปี คนที่อยู่ตอนนั้นก็เสียสิทธิในการขึ้นตำแหน่งช้าไปแล้ว จึงมีบทเฉพาะกาลและให้ทบอายุคนเป็นขั้นบันได แต่พอใช้มาช่วงหนึ่งจะยกเลิก คนที่อยู่ตรงกลางจะเสียสิทธิตรงนี้ไป เรียกว่าพออายุจะถึงปุ๊ปจะได้ขึ้นตำแหน่งบริหาร คุณก็จะตัดสิทธิเลย ส่วนเรื่องอัยการอาวุโสถามว่า เรายังใช้อัยการอาวุโสอยู่ในราชการทำไมเราไม่ให้เขาดูแลกันเอง ตอนที่เราเลือกตั้งเข้ามาอัยการอาวุโสก็เข้ามาด้วยคะแนนสูงๆ ด้วยนะ เพราะส่วนใหญ่พวกนี้จะเป็นอัยการสูงสุดมาแล้วเราก็ยังต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ของเขาอยู่ " อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก กล่าว

           ทั้งนี้ก.อ. มีอำนาจในการออกระเบียบ หรือประกาศในการบริหารงานบุคคล การที่อัยการสูงสุด จะเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานฝ่ายอัยการฯ ดังกล่าวทำให้พนักงานอัยการพ้นจากตำแหน่งบริหารเมื่ออายุครบ 65 ปี โดยไม่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก ก.อ.ก็ย่อมขัดต่อตรรกะหรือเหตุผลของกฎหมายด้วย ตนคิดว่า ทางที่ดีที่สุด คือควรรอการแก้ไขกฎหมายทุกฉบับเกี่ยวกับองค์กรอัยการและพนักงานอัยการไปในคราวเดียวกันหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว หรือหากจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการฯ โดยเร็วเพื่อรักษาน้ำใจอัยการสูงสุด ก็ควรแก้เพียงอายุผู้บริหารให้ลดลงเหลือ 65 ปี โดยไม่ได้ยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 104 ที่เป็นการเยียวยาและยังคงให้อัยการอาวุโส มีสิทธิเป็น ก.อ.ได้ต่อไป

  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ