ข่าว

ตั้ง"หินโงมโมเดล"ต้นแบบพัฒนาน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หินโงมโมเดลต้นแบบการนำน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้กับเกษตรกรแบบยั่งยืน-ครบวงจรให้กับเกษตรกร บนพื้นที่กว่า 1 หมื่นไร่ ใน 2 อำเภอมีน้ำใช้ตลอดปี

          เกษตรกรในพื้นที่ตำบลหินโงม,สีกาย,หาดคำ อ.เมืองและ ตำบลเหล่าต่างคำ อ.โพนพิสัย ต่างพอใจในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการ “หินโงมโมเดล”ที่ทางจังหวัดฯดำเนินการผ่านไปแล้ว 1 ปีเกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง ตลอดทั้งปี ได้ผลผลิตดีและสร้างรายได้มาสู่ครอบครัวอย่างมีความสุข

ตั้ง"หินโงมโมเดล"ต้นแบบพัฒนาน้ำ

          นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการบริหารจัดการน้ำ โดยตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อสูบน้ำโขงเข้ามาสู่คลองส่งน้ำและเก็บกักน้ำให้ประชาชนได้ใช้ จนถึงพื้นที่ตอนในที่ไม่ติดกับแม่น้ำโขง โดยดำเนินงานโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหินโงมหรือหินโงมโมเดลที่ ต.หินโงมอ.เมืองหนองคาย ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่าง 4 ตำบล คือ ต.หินโงมต.หาดคำ ต.สีกาย อ.เมืองหนองคาย และ ต.เหล่าต่างคำ อ.โพนพิสัย โดยช่วยกันบริหารจัดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลำรางระบายน้ำ แล้วเก็บกักน้ำตามหนองน้ำที่มีขนาดน้อย/ใหญ่ จากนั้นให้เกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กสูบน้ำต่อเข้าพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีทั้งปลูกข้าวนาปรัง ข้าวโพด แตงโมพื้นที่มากกว่า 1 หมื่นไร่ ได้น้ำใช้ตลอดทั้งปี

ตั้ง"หินโงมโมเดล"ต้นแบบพัฒนาน้ำ

          ด้านนายจันทรา ดาแก้ว นายก อบต.หินโงม ระบุว่า ต.หินโงม นั้นมีเกษตรกรทำการปลูกพืช ข้าวนาปรัง ข้าวโพด และแตงโม ประมาณ 2,500 ไร่ มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 2,200 ไร่ เกษตรกรได้รวมกลุ่ม 9 กลุ่ม จัดสรรการใช้น้ำ ใน 1 วัน จะสูบน้ำ 22 ชั่วโมง หยุดพักเครื่อง 2 ชั่วโมง โดยเกษตรกรจะเป็นผู้จ่ายเงินค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละ 40 ทาง อบต.จะเป็นผู้รับผิดชอบ ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการทะเลาะแย่งน้ำกัน เพราะมีการจัดสรรเวลาสูบน้ำของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน และโครงการนี้สามารถช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ตั้ง"หินโงมโมเดล"ต้นแบบพัฒนาน้ำ

          นอกจากโครงการ “หินโงมโมเดล” ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังมีอีกโครงการหนึ่ง ที่เป็นโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ได้อย่างยั่งยืน คือโครงการส่งน้ำระบบท่อ ของกรมชลประทาน โดยจังหวัดหนองคาย ร่วมกับสำนักงานชลประทานจังหวัดหนองคาย ซึ่งกำลังดำเนินการทั้งนี้เพื่อเติมเต็ม ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ได้ใช้น้ำกันอย่างทั่วถึงโดยทางกรมชลประทาน นั้น ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 33 ล้านบาท วางระบบท่อส่งน้ำหลักขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 นิ้ว และ 40 นิ้ว ระยะทาง 5 กิโลเมตร ฝั่งลึกลงไปใต้ดินกว่า 1.4 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำให้ได้อย่างทั่วถึง

ตั้ง"หินโงมโมเดล"ต้นแบบพัฒนาน้ำ

          และการส่งน้ำด้วยระบบท่อแบบนี้นั้น สามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร ที่อยู่ด้านบน และไม่ต้องอาศัยความลาดเอียง ของพื้นที่ในการส่งน้ำ เหมือนรางส่งน้ำแบบคอนกรีต บนผิวดิน นอกจากนี้ยังง่ายต่อการบำรุงรักษา และมีข้อดี คือลดการสูญเสียน้ำ ทำให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ซึ่งโครงการนี้ เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 แล้วมีกำหนดแล้วเสร็จ ในปีงบประมาณ 2560 นี้

          "คาดว่าโครงการนี้ จะเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ของ ต.สีกาย อ.เมืองหนองคาย ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย"นายก อบต.หินโงม  กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ