ข่าว

เร่งของบฯโอนรถไฟฟ้า ลุ้น!! มี.ค.เปิดใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชงของบสภากทม. 3.5 พันล้าน 8 ก.พ.นี้ เร่งจ่ายค่าโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รฟม. ตั้งเป้า "แบริ่ง-สำโรง" เปิดใช้งานได้ มี.ค.

 

            8 ก.พ. 60 - ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) แจ้งว่า ในวันพุธที่ 8 ก.พ. เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 4) ประจำปีพ.ศ.2560 โดยที่ประชุมจะมีการพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสมกทม.  จำนวน 3,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณตามข้อบัญญัติ เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ไว้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้จะมีญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 (ฉบับที่ ..) ขณะเดียวกันจะมีการรายงานผลการดำเนินการและขอความเห็นชอบในหลักการ ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พร้อมขอจัดสรรงบประมาณด้วย

            นายสุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวว่า ในการประชุมสภากทม.วันที่ 8 ก.พ.นี้ ฝ่ายบริหารกทม.จะเสนอหลักการและเหตุผล เพื่อขออนุมัติงบประมาณนำใช้จ่ายในการโอนให้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมจำนวน 3,557.053 ล้านบาท ซึ่งกทม.ต้องชำระ หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการไปแล้วในเบื้องต้น

            แบ่งเป็น 1.ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 938.753 ล้านบาท 2.ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 5.835 ล้านบาท 3.ค่าจ้างที่ปรึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2.494 ล้านบาท 4.ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและคัดเลือก 13.983 ล้านบาท 5.ค่าก่อสร้างงานโยธา 2,545.103 ล้านบาท 6.ค่าใช้จ่ายบุคลากร 50.655 ล้านบาท และ7.ภาษีบำรุงท้องที่ 0.230 แสนบาท เพื่อให้ทันในช่วงที่กำหนดไว้ไม่เกินเดือนมี.ค.

             เร่งของบฯโอนรถไฟฟ้า ลุ้น!! มี.ค.เปิดใช้

            นายสุธน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กทม.ยังต้องชำระ ต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ค่าก่อสร้างงานโยธา คงเหลือของรัฐบาล ในการดำเนินโครงการ รวมจำนวน 17,538 ล้านบาท โดยเงินต้น 15,420 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1,886 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมการกู้เงิน 232 ล้านบาท

            “กทม.อยากจะให้เปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ให้เร็วที่สุด 1 สถานีแรกที่แล้วเสร็จ ช่วงแบริ่ง-สำโรง แต่หากยังไม่สามารถโอนได้ก็ต้องหารือกับรฟม.ว่าจะให้มีการเดินรถไปก่อนเพื่อประชาชนได้หรือไม่ แต่ทางรฟม.มีระเบียบว่าหากมีหน่วยงานอื่นมาใช้พื้นที่ของรฟม. ก็ต้องมีค่าเช่า ดังนั้นคงต้องพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องการบริการให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ต้องรอการอนุมัติจากสภากทม. เพราะการใช้จ่ายเงินต้องผ่านสภากทม. แต่ยังเชื่อว่าจะโอนแล้วเสร็จเพื่อจะเดินรถให้ทันในเดือนมี.ค. ก่อนที่สายสีเขียวใต้จะแล้วเสร็จทั้งระบบในปี 2561” รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าว

            ด้านนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากทม. ในฐานะรองประธานสภากทม. กล่าวว่า หากฝ่ายบริการกทม.ต้องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ต้องนำข้อมูล หลักการและเหตุผล นำมาเสนอต่อที่ประชุมสภากทม.ให้รับทราบ เพื่อขอความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก สภากทม.ก็ต้องรับทราบรายละเอียดของโครงการ ว่าจะต้องมีงบประมาณผูกพันเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมแผนการใช้งบประมาณของกทม.ในปีต่อไปได้ โดยไม่กระทบกับการใช้จ่ายในโครงการอื่นๆ

            “ทางออกเรื่องนี้ต้องทำให้ถูกกฎหมายรองรับไว้ ฝ่ายบริหารจะต้องมาชี้แจงทั้งหมด ไม่ใช่แค่เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปิดเผยว่ากทม.ต้องมีงบประมาณผูกพันด้านใดอีกหรือไม่” นายนิรันดร์ กล่าว

            รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับภาระทางการเงินของกทม. จากการรับมอบดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 84,517.72 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 60,815.72 ล้านบาท ซึ่งกทม.ต้องชำระคืนให้กระทรวงการคลัง  และ มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 23,702 ล้านบาท ซึ่งกทม.เป็นผู้ดำเนินการเอง  โดยในเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 21,085.47 ล้านบาท มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท ส่วนเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 39,730.25 ล้านบาท มูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ