ข่าว

ตรังน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมอีกระลอก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ของจ.ตรังอีกระลอก ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในจ.ยะลา มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 720 ครัวเรือน ใน 5 ตำบลของอำเภอเมืองยะลา

 

           21 มกราคม 2560 ฝนที่ตกต่อเนื่อง 2 วันติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำป่าท่วมขัง เนื่องจากปริมาณน้ำตามลำคลอง และพื้นที่ราบลุ่มต่ำยังคงมีท่วมขังอยู่ก่อนหน้า ประกอบกับมีน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.วังคีรี และหมู่ที่ 2 ต.ปากคม อ.ห้วยยอด เป็นรอบที่ 4 และที่หมู่ 2,3 และหมู่ที่ 5 ต.เขาไพร อ.รัษฎา  เป็นรอบที่ 3 ในปี 2560 ทำให้ชาวบ้านกว่า 60 หลังคาเรือน เร่งขนย้ายสิ่งของกันตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยังมีฝนตกสะสม ซึ่งที่หมู่ที่ 1 ต.วังคีรี ระดับน้ำสูงประมาณ 20-60 เซนติเมตร ส่วนที่หมู่ที่ 2 ต.ปากคม อ.ห้วยยอด ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างทำใจยอมรับกับภัยธรรมชาติ แต่ห่วงสภาพบ้านที่ชำรุดและพังเสียหายขยายวงกว้าง แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

           โดยทางจังหวัดตรัง ได้มีหนังสือออกประกาศแจ้งเตือนภัยพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และฝนตกสะสม ระหว่างวันที่ 22 – 25 มกราคมนี้ ทั้ง 7 อำเภอ กว่า 150 หมู่บ้าน ตลอดแนวเขตเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วย อ.รัษฎา , อ.ห้วยยอด,อ.วังวิเศษ ,อ.เมือง ,อ.นาโยง , อ.ย่านตาขาว  และอ.ปะเหลียน และพื้นที่รับน้ำ ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกสะสม ประกอบกับของเดิมที่ยังท่วมขังอยู่ในพื้นที่สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน  ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในลำคลองหลายสายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

น้ำท่วมที่ จ.ยะลา มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 720 ครัวเรือน

 

           21 ม.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ยะลา หลังจากที่ฝนได้ตกต่อเนื่องมาตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 3 วัน และได้หยุดตกเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงเวลา 05.00 น.ของเช้ามืดที่ผ่านมา จนถึงเวลา  08.00 น. แต่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในเขตอำภอเมืองยะลา ที่ ต.สะเตงนอก ซอยปะจูรง ซอย 6 ผังเมือง 4 ชุมชนหลังวัดตรีมิตร ชุมชนวิฑูรอุทิศ และชุมชนเปาะยานิ ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร เนื่องจากปัญหาปริมาณน้ำที่มีสะสมจากฝนตกหนัก และคูระบายน้ำ เส้นทางไหลของน้ำ ระบายน้ำออกไม่ทัน จนทำให้มีน้ำท่วมขัง

           ขณะที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดยะลา ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ อ.เมืองยะลา มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 5 ตำบล ได้แก่ ต.พร่อน ต.สะเตงนอก ต.ยุโป ต.ลำใหม่ และ ต.ท่าสาป มีประชาชนได้รับความเดือนร้อนจำนวน 2,882 คน 720 ครัวเรือน ถนน 1 สาย สะพาน 1 แห่ง ฝาย 1 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตร 566 ไร่

           ส่วนทางด้านชลประทานยะลา ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง เขื่อนเก็บน้ำชลประทานปัตตานี ให้แจ้งเตือนประชาชนท้ายเขื่อน อ.เมือง อ.หนองจิก อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่ไหลมาจาก อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง และ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา มีมวลน้ำปริมาณมาก จากปริมาณฝนตกสะสม จึงอาจจะทำให้ มวลน้ำดังกล่าวไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำในเขื่อนปัตตานี และจะไหลลงสู่ปลายน้ำที่ จ.ปัตตานี ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงในพื้นที่ริมแม่น้ำปัตตานี จึงขอให้ประชาชน ติดตามข่าวสารจากสื่อและการแจ้งเตือนจากทางจังหวัดในทุกระยะ ในขณะที่เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ยังคงสามารถรับน้ำได้อีกถึง 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนบางลาง แต่อย่างใด

 

นราธิวาส - น้ำท่วมขยายวงกว้าง 11 อำเภอ หลังแม่น้ำสายหลัก 3 สายล้นตลิ่ง

           รายงานข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมจากพื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า ล่าสุดฝนก็ยังคงตกแพร่ปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอแต่หนักเป็นช่วงๆ ส่งผลทำให้แม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำสุไหงโกลก บางนราและสายบุรี ล้นตลิ่งและไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางเกษตรเกษตรของประชาชน รวมถึงโรงเรียนต่างๆ และมีแนวโน้มระดับน้ำท่วมขังสูงอย่างต่อเนื่อง

           จากการตระเวนนั่งเรือยนต์ตรวจสอบในแม่น้ำสุไหงโกลก พบว่า พื้นที่ 2 ฟากฝั่งด้าน อ.สุไหงโกลกและฝั่งตรงกันข้ามซึ่งเป็นเมืองรันตูปันหยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย บ้านเรือนของประชาชนที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมตลิ่งถูกน้ำท่วมขัง โดยมีระดับสูงโดยภาพรวมเฉลี่ย 1 ถึง 1.50 ม.ส่งผลทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 9 ชุมชน เขตเทศบาลเมืองสุไหงโกลก ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ประกอบด้วย ชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าชมพู่ ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนหลังด่าน ชุมชนท่าบือเร็งและชุมชนกือดาบารู ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ จำนวนกว่า 100 ครัวเรือน ถูกสภาวะน้ำท่วมขังเป็นระลอกที่ 3 แล้ว โดยส่วนหนึ่งยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านพักชั้น 2 และอีกส่วนหนึ่งได้อพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพโรงเรียนเทศบาล 4 จำนวน 7 ครัวเรือน รวม 24 คน

           แต่ถึงอย่างไรก็ตามผลพวงของฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 วัน ยังส่งผลทำให้กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกัดเซาะถนนยางมะตอยทางเข้าบ้านค่าย ม.2 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส ในช่วงคืนที่ผ่านมา จนขาดเป็นทางยาวกว่า 5 เมตร ยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถแล่นผ่านไปมาได้ ซึ่งในขณะนี้เจ้าหน้าที่ อบต.กะลุวอเหนือ เตรียมนำอุปกรณ์เครื่องมือกลมาทำการซ่อมแซม ซึ่งต้องรอกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากลดระดับลง โดยประชาชนที่ต้องการเดินทางไปทำกิจธุระในตัวเมือง ต้องขับและขี่ยานพาหนะอ้อมไปอีกทางหนึ่งซึ่งไกลกว่า 2 กม.

           นอกจากนี้แล้วอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมขังในรอบ 10 ปี คือ ที่หมู่บ้านละหาร ม.1 ต.ละหาร อ.ยี่งอ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ จำนวน 200 ครัวเรือน มีน้ำท่วมขังสูง 80 ถึง 100 ซ.ม.ชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะแทนรถยนต์ โดยทาง น.อ.สุบรรณ ดีนอก รอง ผบ.ฉก.นาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ ได้นำกำลังพลตระเวนเดินลุยน้ำแจกถุงยังชีพให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว

           ซึ่งล่าสุดจังหวัดนราธิวาส ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในระลอกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่ 11 อำเภอ 50 ตำบล 315 หมู่บ้าน 2 เขตเทศบาล 42 ชุมชน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 27,547 ครัวเรือน รวม 100,866 คน โรงเรียนถูกน้ำท่วม 32 แห่ง บ้านเสียหายบางส่วน 2 หลัง ถนนสายหลักและสายรองถูกน้ำท่วม 16 สาย พื้นที่เกษตรเสียหาย 1,543 ไร่

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ