ข่าว

ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำตรังอพยพหนีน้ำกลางดึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำตรัง ต้องอพยพหนีน้ำกลางดึก กางเต็นท์นอนที่สูง ด้านพิจิตร-แม่น้ำยมตอนกลางเริ่มแห้งขอด

 

           วันที่ 6 ธ.ค.59  ชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรัง ตำบล คือ ตำบลนาตาล่วง ต.หนองตรุด และ ต.บางรัก อ.เมืองตรัง และต.ควนธานี อ.กันตัง หลายร้อยคนทั้ง เด็ก และคนแก่ ต้องอพยพหนีน้ำกลางดึก หลังจากน้ำในแม่น้ำตรังเอ่อล้นตลิ่ง และไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน โดยหนีขึ้นไปกางเต็นท์นอนอยู่ที่สูง ที่ทาง อบต.และเทศบาลจัดเตรียมไว้ให้ และริมถนนที่อยู่ใกล้บ้าน แม้จะมีการนำกระสอบทรายหลายพันใบไปเสริมบริเวนแนวพนังกั้นน้ำแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำที่มีเป็นจำนวนมาก และกระแสไหลแรงได้ไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่ราบลุ่มต่ำในหลายทิศทางทำให้หลายร้อยครัวเรือนบ้านต้องจมอยู่ใต้น้ำ จึงต้องอพยพหนีน้ำในช่วงกลางดึก

          โดยขณะนี้ฝนหยุดตกเป็นระยะๆ แต่ปริมาณน้ำเหนือทั้งหมดทั้งจาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรม อ.รัษฎา อ.ห้วยยอด อ.วังวิเศษ รวมทั้งน้ำจากเทือกเขาบรรทัดฝั่ง อ.นาโยงรอยต่อจังหวัดพัทลุงได้ไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำตรัง เพื่อไหลลงสู่ทะเลต่อไป จึงทำให้แม่น้ำตรังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา จนเอ่อล้นพนังกั้นน้ำและตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งคลองหลายร้อยครัวเรือน แต่บางส่วนที่มีบ้านเรือน 2 ชั้น ได้ขนของหนีน้ำไปบริเวณชั้น 2 ของบ้าน ทำให้ชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำตรังกว่า 1,000 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และเชื่อว่าปริมาณยังคงจะไหลลงมาเพิ่มเติมเรื่อยๆ อีกนานนับสัปดาห์

           นอกจากนั้น ปริมาณน้ำยังคงท่วมและเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ บนถนนทางหลวงหมายเลข 4 เพชรเกษม ต.นาโยงใต้ อ.เมือง จ.ตรัง กม 1113-1114 ระดับน้ำ 30-50 เซนติเมตร รถสามารถผ่านไปมาได้ แต่ทำให้รถติดเป็นแถวยาว เพราะถนนสายดังกล่าว เป็นจุดที่ร่วมรถที่วิ่งมาจาก ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ผ่านเพื่อเดินทางไป พัทลุง หาดใหญ่ สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้มีปริมาณรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารประจำทางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อคอยบอกเส้นทางและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน


 

น้ำป่าจากจ.นครศรีธรรมราชท่วม อ.รัษฎษรอบสอง รร.ปิดกว่า 30 แห่ง

          เมื่อเช้าที่ผ่านมา แม่น้ำตรังทะลักเข้าท่วมพื้นที่ 3 ตำบล ชาวบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือน อพยพหนีน้ำจ้าละวัน หน่วยทหารกำลังลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ ส่วนที่ อ.รัษฎา ซึ่งปริมาณลดลงมาแล้วเป็นเวลา 2 วัน ปรากฎว่าฝนตกซ้ำทำให้น้ำป่าจาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรม และน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ อ.รัษฎา จ.ตรัง อีกเป็นระลอกที่ 2 ในช่วงเย็นของวันที่ 5 ธ.ค.59 ราษฎรในพื้นที่ทั้ง 5 ตำบล และ 1 เทศบาลกว่า 5,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน ถนนหลายสายที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านถูกน้ำตัดขาด สถานที่ราชการทั้งวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนหลายแห่งถูกน้ำท่วมขังจนต้องประกาศปิดการเรียนการสอนในวันนี้ไปหลายโรง

          เช่นเดียวกับ อ.ห้วยยอด อ.นาโยง อ.วังวิเศษ และอ.เมืองตรัง ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง โรงเรียนทั้งสังกัดรัฐบาลและเอกชน โดยทั้งจังหวัดในวันนี้ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 1 วัน ไปมากกว่า 10 โรงเรียน ซึ่งบางแห่งที่เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทาง อบต.และเทศบาลเป็นคนสั่งปิด เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดศรีรัตนาราม ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด ส่วนที่โรงเรียนวัดไพรสณฑ์ ต.นาตาล่วง และโรงเรียนเทศบาล 7 วัดประสิทธิชัย อ.เมือง ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำตรัง ผู้ปกครองที่ไปส่งบุตรหลานไปโรงเรียนต้องเดินทางกลับเมื่อพบว่าโรงเรียนและวัดประสิทธิชัย ถูกน้ำท่วมทั้งครูและนักเรียนไม่สามารถเข้าไปในโรงเรียนได้ และมีโรงเรียนใน จ.ตรังประกาศหยุดเรียนแล้วไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง

          ส่วนถนนทางหลวงหมายเลข 403 เส้นทางไปยังอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชและ จ.กระบี่ ถูกน้ำท่วมบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4-6 สายสี่แยกอันดามันถึงสี่แยกนาขา ระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรเป็นวันที่ 2 โดยระดับน้ำได้ทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่รับน้ำสองฝั่งแม่น้ำตรัง ทำให้เรือท้องแบนที่มีอยู่กว่า 130 ลำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในตำบลนาตาล่วง ต.หนองตรุดและต.บางรัก อ.เมือง ชาวบ้านต้องขนข้าวของหนีน้ำ และนำรถออฟโรดออกมาช่วยขนย้ายสิ่งของและประชาชนออกนอกพื้นที่อย่างเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา โดยมีทหารจากค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่ง จ.ตรังวันนี้ มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมด 9 อำเภอ ประมาณ 50 ตำบล 80 หมู่บ้าน 5 เทศบาล ราษฎรได้รับความเดือดร้อนแล้วประมาณ 50,000 คน พื้นที่ทางเกษตรจมน้ำกว่า 20,000 ไร่ ประกอบด้วย อ.รัษฎา , อ.ห้วยยอด .อ.วังวิเศษ,อ.นาโยง ,อ.ย่านตาขาว ,อ.เมือง อ. และ อ.ปะเหลียน ทั้งนี้ ทางจังหวัดตรังได้ประกาศให้เขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยน้ำท่วมแล้วทั้งหมด 7 อำเภอ ส่วนอำเภอที่เหลือกำลังรอรายงาน จากทางอำเภอ เพื่อทยอยประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป

 

 

 

 

พิจิตร-แม่น้ำยมตอนกลางเริ่มแห้งขอด

          สถานการณ์แม่น้ำยมตอนกลางในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เริ่มแห้งขอด โดยเฉพาะแม่น้ำยมที่บริเวณหน้าวัดวังเทโพ หมู่ที่ 3 ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ระดับน้ำแม่น้ำยมลดระดับลงอย่างรวดเร็วระดับน้ำเหลือเพียงระดับ 1 เมตร จนสามารถมองเห็นแนวสันดอนทรายของแม่น้ำ ซึ่งบรรดาเด็กต่างพากันลงเล่นบนเนินทรายของแม่น้ำยม ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียงเดือนเศษระดับน้ำแม่น้ำยมยังล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่ทางการเกษตร เส้นทางในการสัญจร แต่หลังระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วประกอบกับมีการพองฝายยางเพื่อชะลอการไหลของน้ำในพื้นที่อำเภอสามง่าม ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนส่งผลให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้แห้งขอด

          สำหรับแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักหนึ่งใน 4 สาย ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบด้วย แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ที่ผ่านมาแม่น้ำยมในเขตจังหวัดพิจิตรจะประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากไม่มีระบบชลประทานขนาดใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรมีเพียงฝายยางซึ่งกักเก็บน้ำได้เพียงเล็กน้อยจำนวน 3 แห่ง ทำให้แม่น้ำยมยังคงประสบปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ส่งผลกระทบน้ำในการอุปโภค น้ำในการทำการเกษตร และน้ำซึ่งใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์ไม่เพียงพอ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ