ข่าว

ห่วง!! ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ให้อำนาจ จนท.มาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วงถกร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ห่วงให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก หวั่น ประชาชนละเมิดสิทธิ แนะ ป้องกันฆ่าตัวตายสด วอน ดูเรื่อง หมิ่นประมาท-ลิขสิทธิ์

 

                 23 พ.ย. 59 - คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดเสวนา “เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ที่รัฐสภา 

                 พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกมธ.  กล่าวว่า ร่างดังกล่าวใความละเอียดอ่อนซึ่งต้องใช้ความสมดุลของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการและจำเป็นอย่างยิ่งต้องรับฟังเพื่อให้เกิดการบูรณาการเพื่อป้องกันอย่างเป็นเอกภาพและคุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ใช่บัญญัติกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป แต่ประชาชนก็ต้องใช้สิทธิโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายต่อประชาชนด้วยกันหรือเสียหายต่อเอกชนรวมทั้งไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ  

                พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างมาตรา 20/1  ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์คณะหนึ่งหรือหลายคณะ โดยแต่ละคณะให้มีกรรมการจำนวน 5 คน ซึ่ง 2 ใน 5 มาจากภาคเอกชน และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมาย ว่า ด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ โดยอนุโลม ทั้งนี้หากกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ขัดต่อกฎหมายนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองฯสามารถยืนคำร้องต่อศาลได้เลยเพื่อให้ขอระงับหรือลบ ก่อนที่รัฐมนตรีมอบหมาย แต่ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบ

                ขณะที่นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฎหมายไพบูลย์ จำกัด กล่าวว่า สแปม หรือการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นให้ได้รับเดือดร้อนรำคาญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท แต่วิธีการส่งและลักษณะรวมถึงปริมาณของข้อมูล ไม่ถือเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ และปฏิเสธการรับได้โดยง่ายถือว่าไม่มีปัญหา หรือผู้รับยินยอมรับข้อมูลตัวนั้น เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ ซึ่งถ้าสมาชิกยอมรับก็ไม่ผิดกฎหมายฉบับนี้

                นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเปรียบเทียบปรับโดยเฉพาะการทำผิดของเยาวชนซึ่งไม่มีเจตนาแต่เป็นคดีทางอาญานั้น ถ้าจะดำเนินคดีคงไม่เหมาะสม ซึ่งหากจำเลยสารภาพก็ใช้วิธีการเปรียบเทียบปรับจะทำให้คดีไม่รกศาล อย่างไรก็ตามกรณีที่ตนว่าน่าเป็นห่วง คือ การเฟซบุ๊คไลฟ์ฆ่าตัวตาย ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่มีกฎหมายมาช่วยเรื่องนี้เลย

                ด้านประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า มาตรา 14 (1) ใช้ในเรื่องการหมิ่นประมาท โดยขอยกตัวอย่าง 2 เรื่อง ที่เคยผ่านประสบการณ์มา คือ สถาบันอิศราถือเป็นเว็บไซด์ข่าวขนาดเล็ก และใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างหาก และจ้างคนดูแลต่างหาก โดยเกิดเรื่องครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งได้นำเสนอข่าวของพล.อ.ท่านหนึ่ง แต่ข่าวนั้นเปิดไม่ได้ และได้รับแจ้งจากผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ว่าถูกคำสั่งคสช. ว่าเว็บได้ยุยง ปลุกระดม ต้องปิด รวมถึงส่งคำชี้แจง และเมื่อถามปลัดไอซีที แต่ก็ไม่ได้คำตอบว่าปิดโดยใคร และใครสั่งมา ผู้ให้บริการเจ้าเดิมให้ปิด เพราะมีผลต่อความมั่นคง

                 นายประสงค์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้คุยกับกสทช. ก็หาตัวไม่ได้ในเรื่องนี้ เซิร์ฟเวอร์ อยู่ไหน ผู้ให้บริการฟังคำสั่งใคร และไอซีทีจะฟังคำสั่งใคร แต่ท้ายสุดก็ไม่ได้ปิด แต่ถามว่าใครจะรับผิดชอบ ผู้ให้บริการยังตกใจ และถ้านักธุรกิจอาจจะเกิดความเสียหาย หรือแม้แต่นักการเมืองโพสต์ถึงอดีตนายกฯ ได้มีการแจ้งดำเนินคดีต่อดีเอสไอ หรือดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ วิจารณ์การซื้อขายตำแหน่งของตำรวจ กลับถูกขู่และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น จะเข้าถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้หรือไม่

                นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้ไป 4.0 ซึ่งมีการควบคุมลิขสิทธิ์สูงมาก แต่ก็ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เยอะมากเหมือนกันในขณะนี้ประเทศไทยแซงสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรองแค่ประเทศอินเดีย ซึ่งในอดีตการทำกฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้มีการรับฟังเหมือนปัจจุบัน  ซึ่งในมาตรา 20 (3) กฎหมายลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา หากผู้ใดถูกละเมิดให้ไปร้องที่ศาล ซึ่งหากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงก็สามารถแสดงได้  ซึ่งศาลจะสั่งบล็อกให้  แต่ขณะนี้มีการทำต้นฉบับที่ทำการละเมิดอาจอยู่นอกราชอาณาจักร คนทำก็ไปทำเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ  ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องไปหาตัวผู้กระทำผิดมาหากจะต่อสู้ในทางคดีความ  ดังนั้นพ.ร.บ.ฉบับนี้คุ้มครองระบบคอมพิวเตอร์ในเรื่องห้ามใส่ไวรัสเข้าไป แต่เมื่อใส่มาตรา 20 ที่ว่าด้วยเรื่องที่จะป้องกันการกระทำผิดต่อความมั่นคงและลามกอนาจารซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมาในส่วนนี้  จึงยังไม่สามารถป้องกันเรื่องลิขสิทธิ์ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ