ข่าว

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’ : เรื่อง / ภาพ... นพพร วิจิตร์วงษ์

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’  

 


          สวนไม้ใหญ่ที่ร่มรื่น สายน้ำที่ทอดตัวเป็นเส้นนำสายตายาวสุดทาง เห็นตึกสูงใหญ่ลิบๆ ลมพัดมาแผ่วๆ คลายร้อนของอากาศให้จางหายไป หลังจากที่ตะเวนเดินไปตามจุดต่างๆ ของสวนใหญ่แห่งนี้ สวนที่ถูกแบ่งพื้นที่จนบางส่วนเป็นเหมือนโรงงานขนาดย่อม บางส่วนเป็นแปลงนา และบ่อปลา กังหันน้ำ กังหันลม ชวนให้นึกถึงบรรยากาศท้องทุ่ง ขณะที่อาคารที่พักอาศัยในสวนใหญ่แห่งนี้ ไม่มีปรากฎสู่สายตาด้วยเพราะเป็นที่รโหฐาน ที่สำคัญ ... บริเวณที่ฉันนั่งทอดอารมณ์อยู่นี่ เป็นเสี้ยวหนึ่งของ “สวนจิตรลดา”

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

          คงจะเป็นพระราชวังแห่งแรกในโลกนี้กระมัง ที่มีพื้นที่แวดล้อมในเขตพระราชฐานเป็นแปลงสาธิต และแปลงทดลองทำอะไรต่อมิอะไร โดยพื้นฐานจากเกษตรกร ต่อยอดสู่อุตสาหกรรม

          จากความเป็นมา พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งข้าราชบริพารจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก และโปรดเกล้าให้แบ่งพื้นที่ภายในสวนจิตรลดาฯ ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน ตั้งแต่การปลูกข้าว ไปจนถึงการสีข้าว หรือเลี้ยงวัวนมไปจนถึงโรงงานผลิตนมยูเอชทีและนมอัดเม็ด ยี่ห้อ “จิตรลดา” รวมถึงการวิจัยด้านพลังงานจนผลิตไบโอดีเซล รวมถึงผลไม้แปรรูป

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

          การเข้าเยี่ยมชม สวนจิตรลดา จะต้องทำจดหมายของอนุญาตเป็นหมู่คณะ โดยในการเข้าชมจะมีเจ้าหน้าที่นำเยี่ยมชม เริ่มตั้งแต่การดูวีดีโอบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ทำให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงทุ่มเทเพื่อพสกนิกรไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเกษตรกร กระทั่งพระองค์มีพระราชดำริ "โครงการส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา”

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

          โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นในแนวทาง ปรัญชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นี่จึงมีการศึกษา วิจัย และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำผลการศึกษาเผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนต่อไป

          โครงการทดลองที่จัดทำขึ้นในสวนจิตรลดา มีทั้งโครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ คือโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และยังมีโครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ โดยนำรายได้มาใช้บริหารจัดการภายในโครงการฯ ต่อไป

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

          “การเกษตร” เป็นพื้นฐานของอาชีพคนไทย ด้วยลักษณะภูมิประเทศ และการดำเนินชีวิตมาแต่อดีต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญ และมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดำเนินการทางด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นแหล่งความรู้ ทรงทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการทดลองเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างครบวงจร ภายในบริเวณสวนจิตรลดา

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

          บนเนื้อที่ 4.6 ไร่ จัดทำเป็นแปลงนาสวน(นาที่ลุ่มแบบน้ำท่วมขัง) โดยนำข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วประเทศมาทดลองปลูก และยังมีส่วนแปลงข้าวไร่ที่มีทั้งสายพันธุ์ข่าวเจ้าและข้าวเหนียวพันธุ์ต่างๆ โดยทดลองตั้งแต่เตรียมแปลงนา ไปจนปลูก และเก็บเกี่ยว จนได้ข้าวพันธุ์ดี จึงได้ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่าง ๆ ด้วยเพราะทรงเล็งเห็นว่า ข้าวไร่จะมีความสำคัญใยอนาคต เพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และลดการทำไร่เลื่อนลอย
 
          และยังทรงเห็นว่า ข้าวจะเป็นพืชสำคัญในอนาคต ยุคที่พื้นที่เพาะปลูกลดลง แต่ทั่วโลกยังจำเป็นต้องบริโภค
   
          “ ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก” กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2536)

          นอกจากแปลงนาสาธิตแล้ว ภายในสวนจิตรลดายังมีโรงสีข้าว โรงเก็บเครื่องไม้เครื่องมือ โดยเฉพาะรถไถทรงงานส่วนพระองค์คันแรก ที่เก็บไว้ให้ดูอยู่ในส่วนงานใกล้กัน แล้วยังมียุ้งฉางไม้แบบดั้งเดิม ที่อาศัยภูมิปัญญาไทยล้วนๆ ในการเก็บรักษาข้าวเปลือก ไม่ให้เสียหาย และยังป้องกันหนูเข้าไปลักขโมยกินด้วย ไปจนถึงไซโลสมัยใหม่ ขนาดใหญ่โตสำหรับเก็บผลผลิตจากนิวซีแลนด์

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

 

          ไม่ไกลจากโรงสีข้าว ยังมี โรงเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ที่ปัจจุบันจะเพาะในขวดเล็กๆ พอกล้วยไม้กินอาหารหมด โตเต็มขวดพอดี ก็ราวๆ 2-3 เดือน ถึงจะนำออกมาปลูกข้างนอกได้ กำลังได้รับความนิยมทีเดียว ด้านหน้าอาคาร ฉันเห็นขนุนต้นโต เจ้าหน้าที่บอกว่า นี่เป็น “ย่าขนุน” เป็นขนุนทักษิณไพศาล ที่เจ้าจอมมารดาเที่ยง ในรัชกาลที่ 4 ทรงปลูก รวมอายุแล้วน่าจะถึง 150 ปี และด้วยพระราชดำริของในหลวง ได้มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จ และแพร่พันธุ์ปลูกมาถึงปัจจุบัน

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

 

          กังหันน้ำชัยพัฒนา ที่หมุนระบายน้ำในลำคลองเล็กๆ ด้านในสวนจิตรลดา เป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยเพื่อบำบัดน้ำเสีย เพิ่มอ็อกซิเจนให้กับน้ำ ซึ่งหลังจากทดลองได้ผล ก็ได้ส่งมอบเทคโนโลยีนี้ต่อไปยังมูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในสถานที่อื่นๆ ต่อไป ไม่ไกลกันมีกังหันลมสูงใหญ่ ยังมีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

          อีกจุดที่ได้รับความสนใจ คือโรงนมยูเอชที ผ่านถึงตรงนี้ เจ้าหน้าที่ยังนำนมผงอัดเม็ด มาแจกให้ชิมกันถ้วนหน้า นี่ก็เป็นกุศโลบายอีกอย่างที่จะให้เด็กๆ ได้รับแคลเชี่ยมจากนมมากขึ้น เพราะเคี้ยวกันเพลินจริงๆ แล้วที่สำคัญจากพระราชดำริเรื่องโคนม นำไปสู่ความร่วมมือกับเดนมาร์ก ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและผลิตน้ำนม ตั้งเป็นองค์กรส่งเสริมโคนมไทย-เดนมาร์ก

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’

          กลุ่มผลิตกระดาษสา ก็น่าสนุกไม่น้อย เจ้าหน้าที่ยังให้พวกเราทดลองวางลวดลายแข่งกัน ฉันเลยได้ฝากกลีบกุหลาบไว้ซะ 2-3 กลีบ ก่อนจะแวะไปชม โรงหล่อเทียนหลวง โรงผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล โรงแปรรูปน้ำผลไม้และผลไม้อบแห้ง การเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายเกลียวทอง ฯลฯ จารนัยไม่หมด
   สายน้ำยังคงเคลื่อนไหว ไหลเอื่อยๆ กังหันน้ำยังพัดต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับกังหันลม กลไลทั้งหมดยังดำเนินต่อไปตราบนานเท่านาน แม้จะผ่านเลย 70 ปี ที่ ธ ทรงครองราชย์

 

เริ่มต้นที่ ‘สวนจิตรลดา’
 
....................................... 
          ผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อขอเข้าไปศึกษาดูงาน ติดต่อได้ที่ งานนำชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โทร. 0-2282-8200

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ