ข่าว

นิตยสาร..ยังไม่ตาย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นิตยสาร “พลอยแกมเพชร” และ “WHO?” ประกาศปิดตัวลง ท่ามกลางดราม่า ความเสียดาย เสียใจ ตกใจ คำถามคือ นิตยสารตายแล้วจริงหรือ?

รายงานพิเศษ โดย อิสรีอิน

          ประกาศลาจากแผงไปแล้วอีก 2 เล่ม สำหรับ “พลอยแกมเพชร” และ “WHO?” ท่ามกลางดราม่าความเสียดาย เสียใจ ตกใจ และอีกสารพัดความรู้สึก พร้อมเสียงวิพากษ์จากคนทั้งใน-นอกแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ออกมาร่วมด้วยช่วยวิเคราะห์กันยกใหญ่

         “สื่อสิ่งพิมพ์ตายแล้ว” จริงหรือ?

         โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน การล้มหายตายจากเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ โครงสร้างธุรกิจนิตยสาร ก่อเกิดจากโฆษณามาแต่ยุคเริ่มต้น ที่ผ่านมาเมื่อ โฆษณาหด กำไรหาย คนอ่านกระจัดกระจาย และไม่ก้าวตามเทคโนโลยี ล้วนเป็นสาเหตุ “ปิดตัว ” ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารที่มีอายุยาวนาน หรือเล่มใหม่อายุไม่ถึงสิบปี ย่อมหนี้วงจรนี้ไม่พ้น

          แต่ยังก่อน...ยังมีนิตยสารอีกหลายเล่มที่ยังอยู่ได้!!

         ลองมาดูกันว่าพวกเขามีการปรับ “กลยุทธ์” อย่างไรบ้าง

 - ปรับทัศนคติ Content is King

         หลายเล่มมีการปรับตัวปรับมุมมองใหม่ว่านิตยสารไม่ใช่แค่นิตยสารอีกต่อไปแล้ว แต่เป็น Content ที่นำไปต่อยอดเป็นอะไรก็ได้เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างเรตติ้ง ยอดไลค์-ยอดแชร์และดึงดูดใจเม็ดเงินโฆษณาในท้ายที่สุด

 - แค่อ่านไม่พอ ต้องมี “อีเวนต์”

         ยุคนี้สมัยนี้ นิตยสารแค่อ่านไม่พอแล้ว ต้องมีอีเวนท์ด้วย และต้องอีเวนท์ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ไม่ใช่แค่โปรโมทสินค้า แต่ต้องให้คนที่มาได้ในแง่การมีส่วนร่วมและความรู้สึกร่วมด้วย จะจัดเองหรือมีสปอนเซอร์จงสร้างสรรค์มา รับรองสปอนเซอร์เห็นผลงานแน่ๆ

 - ปรับโครงสร้างรวมเป็นหนึ่ง

         หมดยุคการทำงานแบบแยกฝ่ายเธอฝ่ายฉันแล้ว ทั้ง การตลาด กองบรรณาธิการ และ ฝ่ายศิลปกรรม ต้องมารวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดีย มุมมอง และพร้อมตอบโจทย์งานทุกรูปแบบ ไม่ต้องมีใครต้องคิดว่าใครเป็นฝ่ายสร้างรายได้เข้าบริษัทแต่ฝ่ายเดียว ทว่า ทุกคนมีภาระหน้าที่แบกรับร่วมกัน

- Free Copy กันเถอะ

         เสียหน้าดีกว่าเสียทรัพย์ หลายสำนักยอมปรับเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าด้วยการมี Free Copy นอกจากคงชื่อนิตยสารและรักษาฐานคนอ่านไว้ได้แล้ว ยังตรงถึงกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย หากเลือกจุดวางได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

- อย่าลืม e-Magazine

         หากมองว่าโซเชียลมีเดียหรือออนไลน์แย่งชิงพื้นที่ไป ก็ต้องรุกกลับบ้าง โดยดึงจุดแข็งมาใช้เป็นคู่ขนานกันไป e-Magazine เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ทั้งแบบดาวน์โหลดฉบับเต็มที่อ่านกันอยู่แล้ว และจัดรูปแบบใหม่ที่อ่านง่าย สบายตา และกำหนดจำนวนหน้า กำหนดเนื้อหา-โฆษณาได้ตามความต้องการ โดยแทรกโฆษณาได้อย่างลงตัว โดยที่คนอ่านก็ (น่าจะ) เข้าใจ ของฟรีไม่มีในโลก อยากอ่านของดีถูกใจก็ต้องแลกกัน แต่ด้วยหน้าโฆษณาออกแบบมาสวยงามครึ่งต่อครึ่งคลิกเข้าไปอ่านแน่นอน ส่วนหน้าร้านเรียกแขกยกหน้าที่ให้กับ Facebook

- ต่อยอดโฆษณาสู่ชอปปิ้งออนไลน์

         ตัดข้อด้อยของนิตยสารในเรื่องระยะเวลาและความฉับไวต่อกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยการจัดทำ Application เพื่อเพิ่มพื้นที่โฆษณา และด้านการตลาดของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในเล่มให้ไม่น่าเบื่ออีกต่อไปผ่านชอปปิ้งออนไลน์

         กระบวนทัพเหล่านี้มิได้กล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่มีเล่มที่ลงมือทำไปแล้ว อย่าง นิตยสารในเครือ บริษัท ทรีแดนซ์ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของนิตยสาร IMAGE , MADAM FIGARO , HERWORLD , MAXIM , ATTITUDE และ  IN Magazine ภายใต้การนำของ ซีอีโอโจ-วิโรจน์ วชิรเดชกุล นอกจากยุติการตีพิมพ์ IMAGE ก่อนที่ภาวะขาดทุนจะบานปลายมากไปกว่านั้นแล้ว ได้หันกลับมาปรับทัพครั้งใหญ่ ภายในได้ปรับโครงสร้างรวมศูนย์ทั้ง กองบก. การตลาด และ ฝ่ายศิลปกรรม เพื่อทำนิตยสารในเครือและรองรับงานใหม่ๆ ที่จะเข้ามา

นิตยสาร..ยังไม่ตาย?          ในส่วนนิตยสารได้เพิ่มช่องทางใหม่ด้วยการจัดทำ Free Copy ทั้ง MADAM FIGARO -in Flight สำหรับสายการบิน และ IN Magazine Free Copy แจกตามรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังจับ MAXIM และ ATTITUDE ต่อยอดสู่งานอีเวนต์อีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ยังจัดทำ Tree Dance Application เพื่อต่อยอดโฆษณาในเล่มสู่การชอปปิ้งออนไลน์อีกต่างหาก ส่วน IMAGE ปรับพื้นที่ไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียแทน เป็นเสมือนหน้าร้านให้กับนิตยสารทุกเล่มในเครือ

         ทางด้านเครือ daypoet เจ้าของนิตยสาร aday, daypoets และ HAMBURGER เลือกต่อยอดสู่งานอีเวนต์ ปรับสู่ Free Copy มากขึ้น ขณะที่ด้านอีเวนต์ของ aday มี ทรงกลด บางยี่ขัน เป็นแม่เหล็กในด้านอีเวนต์ด้านสุขภาพ, จักรยาน และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกระแสอินเทรนด์ในหมู่คนรุ่นใหม่อยู่แล้ว จึงสามารถขยาย “ฐาน” คนอ่านกลุ่มใหม่ได้ต่อเนื่อง

         ขณะที่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ได้ปรับนิตยสาร HAMBURGER เป็น Free Copy พร้อมปรับระยะเวลา จาก “รายเดือน” เป็น “รายสัปดาห์” นอกจากนี้ยังมี แนวทางด้าน “โฆษณา” เฉพาะตัวเป็นจุดแข็ง โดยเฉพาะ Advertorial เข้มเต็มรสทั้งเนื้อหาและรูปแบบเฉพาะตัวของค่ายนี้ตอบโจทย์โดนใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี

         สำหรับทางฝั่งนิตยสารในเครือ “อมรินทร์พริ้นติ้ง” ถึงแม้มีจุดแข็งที่ “ครบวงจร” ก็ตามแต่ ทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็น แพรว, สุดสัปดาห์ และเล่มอื่นๆ ต่างกระตือรือร้นเปิดพื้นที่ใหม่ทางโลกออนไลน์ได้อย่างมีสีสัน นอกจากนี้ยังขยายและต่อยอดเนื้อหาไปสู่หน้าจอ “ทีวีดิจิทัล” หลากหลายรายการ อีกด้วย

         ยุคนี้สมัยนี้ ไม่มีอะไรที่จะได้มาง่ายๆ หรือสบายๆ ต้องสู้กันต่อไป แต่ที่แน่ๆ หมดยุค “นายทุน” ที่ยอมควักกระเป๋ามาทำธุรกิจนิตยสารเพื่อสร้างอิมเมจของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าเป็นยุคนี้คงต้องคิด...หลายตลบ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ