ข่าว

แฉกะเหรี่ยงรบกะเหรี่ยง เหตุทุนใหญ่ต้องการสร้างเขื่อนฮัตจี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แฉเบื้องลึกกะเหรี่ยงรบกะเหรี่ยง เหตุทุนใหญ่ต้องการเดินหน้าสร้างเขื่อนฮัตจี ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อ ตาย-เจ็บ-พลัดถิ่น นัดพัน

        เมื่อวันที่ 14 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักข่าวกะเหรี่ยง KPTV ได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ปะทะครั้งใหญ่ในเขตแม่ตะวอ รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามชายแดนไทยที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระหว่างกองกำลัง DKBA และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ของกองทัพพม่าในขณะนี้ว่า อาจถูกทำให้เกิดขึ้นโดยกองทัพพม่า เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเสริมกำลังทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ในการควบคุมของสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU) โดยเฉพาะพื้นที่หัวงานเขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam) ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินที่ร่วมทุนระหว่างพม่า ไทย จีน ซึ่งการปะทะครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และรุนแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน โดยเมื่อคืนวันที่ 13 กันยายน ได้มีการวางแผนโจมตีอย่างหนัก

        สำนักข่าว KPTV ระบุว่าข้อมูลเมื่อปีพ.ศ. 2557 ชี้ให้เห็นว่าพล.ต. ชิตู่ ผู้บัญชาการBGFภายใต้กองทัพพม่า ได้รับเงินจาก นาย อ่อง ตอง ตาน ประธานบริษัท IGE ซึ่งเป็นบริษัทพม่าที่มีหุ้นในการลงทุนโครงการเขื่อนฮัตจี เพื่อดำเนินการเข้ายึดพื้นที่หัวงานเขื่อน นอกจากนี้ พื้นที่ใต้หัวงานเขื่อนลงมานั้นยังคาดว่าเป็นแหล่งแร่พลวง หรือทองคำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเข้าสำรวจชนิดแร่เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

แฉกะเหรี่ยงรบกะเหรี่ยง เหตุทุนใหญ่ต้องการสร้างเขื่อนฮัตจี

“จากการที่ พล.ต. ชิตู่ ได้รับเงินจำนวนมากจากบริษัทของ อ่อง ออง ตาน มาเป็นเวลานานกว่า 3ปีแล้ว แต่ภารกิจยึดพื้นที่เป้าหมายยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ ปฏิบัติการครั้งนี้จึงอาจเป็นแรงบีบจากกองทัพพม่า” นักวิเคราะห์ชาวกะเหรี่ยงกล่าว

        ข้อมูลการเคลื่อนไหวของ นาย อ่อย ตอง ตาน นั้นตรงกับข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจหัวงานเขื่อนฮัตจีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งผู้บังคับกองพัน BGF ประจำพื้นที่บ้านแมเซก ในขณะนั้นให้ข้อมูลว่า นาย อ่อง ตอง ตาน เข้าไปพื้นที่บ้านแมเซกหลายครั้งเพื่อทำการเจรจากับ ร.อ. พามี (เสียชีวิตแล้ว) ผู้บังคับกองร้อยพิเศษพื้นที่ใกล้หัวงานเขื่อนฮัตจี เพื่อขอให้เปิดพื้นที่ให้ ตรงกับข้อมูลที่ ร.อ. พามี เคยเปิดเผยว่า นาย อ่อง ตอง ตาน ได้นำเงินจำนวน 2 ล้านบาท มาเสนอให้แลกกับการเปิดพื้นที่ แต่การเจรจาครั้งนั้นไม่สำเร็จ รวมทั้งกำลังหลักที่คุมพื้นที่หัวงานเขื่อนฮัตจีคือ กองกำลัง DKBA ซึ่งทหารของ BGF และทหารพม่าไม่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่หัวงานเขื่อนได้จนกระทั่งปัจจุบัน

แฉกะเหรี่ยงรบกะเหรี่ยง เหตุทุนใหญ่ต้องการสร้างเขื่อนฮัตจี

        สำนักข่าว KPTV วิเคราะห์ว่าสถานการณ์การสู้รบครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับแผนการสร้างเขื่อนฮัตจีแน่นอน เนื่องจากกองพัน BGF 1014 ขออนุญาตกองกำลัง KNU เคลื่อนไหวและใช้ฐานที่มั่นในเขตกองพลที่ 5 KNU ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ในปฏิบัติการครั้งนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธจากกองกำลัง KNU

        อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้านนายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EGATi ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า สำหรับโครงการฮัตจี มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการมานาน แต่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ ตามการศึกษาเดิมระบุศักยภาพของกำลังผลิตไว้ที่ 1,360 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่การศึกษาไม่ได้ครอบคลุมถึงระบบสูบน้ำเพื่อส่งกลับมายังเขื่อนภูมิพล (เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง) ฉะนั้นอาจจะต้องประเมินมูลค่าโครงการใหม่ ทั้งนี้ยังต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลเมียนมาที่อยู่ระหว่างเจรจากับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ หากว่าสัญญาณกาเจรจาเป็นไปในทางที่ดี เร็ว ๆ นี้ EGATi อาจจะได้ส่งทีมงานลงพื้นที่สำรวจโครงการได้ ในส่วนของการลงทุนนั้นนอกเหนือจาก EGATi แล้ว ยังมีนักลงทุนในเมียนมาและนักลงทุนจากจีนสนใจร่วมลงทุนด้วย

         ทั้งนี้โครงการเขื่อนฮัตจี ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน ห่างจากพรมแดนไทยที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 47 กิโลเมตร เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,360 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าส่วนใหญ่จะส่งขายให้แก่ประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาได้รับการคัดค้านมาโดยตลอดเนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และมีการพิจารณาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี

         หมายเหตุ-สำนักข่าวกะเหรี่ยง KPTV ลำดับเชนวนเหตุของการสู้รับระหว่างกองกำลังพิทักษ์ชายแดนพม่า BGF กับ กลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA ดังนี้

         30 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เกิดเหตุควาญช้างชาวกะเหรี่ยง 2 คนร่วมกันฆ่า ร.อ. นามาจา ทหารสังกัดกองกำลัง DKBA และควาญช้างทั้งสองได้กลับมามอบตัวกับทาง BGF ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นพี่ชายของ ร.อ. นามาจา ถูกทหาร BGF จับกุมและส่งตัวให้กับกองทัพพม่า รวมถึงทหาร DKBA ในสังกัดของร.อ. นามาจา จำนวน 3 คนถูกจับเข้าคุกของ BGF ที่เมืองโก๊ะโก่ (ในการควบคุมของกองกำลัง BGF) ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเหตุการนี้ ทำให้พันเอกโบบี้ นายทหาร DKBA ที่ควบคุมพื้นที่เขตตองจา และแม่ตะวอ เชื่อว่าควาญช้างทั้งสองเป็นทหารของ BGF และเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นแผนของทหารฝ่าย BGF

          3 กันยายน พ.ศ. 2559 พันเอกโบบี้ นายทหาร DKBA เปิดศึกโจมตีที่มั่นของ BGF ที่ทั้งหมด 5 พื้นที่ ได้แก่พื้นที่ บ้านแม่ลายอท่า บ้านบี้โข่เล บ้านยินไบ (ริมฝั่งสาละวิน) แม่โปปลอ (ชาวบ้านเรียกว่าสะพานขาว ในเขตแม่ตะวอ) และบ้านแมเซก (ริมฝั่งสาละวิน) ส่งผลให้ในวันที่ 4 กันยายน ทหาร BGF ใช้ปืนใหญ่ยิงตอบโต้ในเขตพื้นที่บ้านว่ากลื้อโกล และในวันเดียวกัน พล.ต. ชิตู่ ผู้บัญชาการ BGF ได้ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าว KPTV ว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ BGF พร้อมถอนรากถอนโคน DKBA

        7 กันยายน ทหารพม่ากองพลทหารราบที่ 44 เสริมกำลังให้กับกองกำลัง BGF ในเขตพื้นที่เมียนจีหงู่ และกระจายกำลังในพื้นที่ คาดว่ากำลังพลประมาณ 1,000 นาย รวมอาวุธหนัก ปฎิบัติการเข้าชิงพื้นที่ได้เริ่มขึ้นเช้าวันที่ 9 กันยายน โดยการปะทะทำให้ฝ่ายทหารพม่า และทหารกองกำลัง BGF ได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง จึงทำการพักรบชั่วคราวและมีคำสั่ง BGF ในวันที่ 10 กันยายน ให้ชาวบ้านทั้งหมด 17 หมู่บ้านในพื้นที่เขตแม่ตะวอย้ายออกจากหมู่บ้านทันที

        11 กันยายน ชาวบ้านกว่า 3,000 คนในเขตแม่ตะวอ เริ่มหนีภัยสงครามออกจากชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ได้หนีภัยไปอยู่ที่วัดเมียนจีหงู่ เขตเมืองเมียนจีหงู่ ซึ่งเป็นวัดที่ทั้งฝ่ายDKBA และ BGF ให้ความศรัทธาต่อเจ้าอาวาส

หลังจากวันที่ 11 กันยายนเป็นต้นมา การสู้รบเกิดขึ้นอย่างหนัก และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559ขบวนรถบรรทุกของกองทัพพม่าถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง รายงานจากในพื้นที่ระบุว่านับตั้งแต่มีการสู้รบครั้งนี้ทหารกองทัพพม่าและ กองกำลัง BGF เสียชีวิตแล้ว 60 คน และได้รับบาดเจ็บ 174 นาย ซึ่งโรงพยาบาลในเขตเมืองกอกาเร็ก และเมืองพะอัน ได้รายงานว่าทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยเต็มอัตตราที่จะรับได้ ขณะเดียวกันในเขตเมืองเมียนจีหงู่ มีข้อมูลแจ้งว่าทหารกองทัพพม่าเริ่มจับชาวบ้านในพื้นที่ให้เป็นลูกหาบ และมีการใช้ชาวบ้านเป็นโล่ห์มนุษย์ในการเดินนำกำลังทหารพม่า เนื่องจากทหารพม่าไม่ชำนาญพื้นที่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ