ข่าว

กระทบแน่!2ค่ายยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่หยุดรับซื้อยางอีสาน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกสมาคมชาวสวนยางบุรีรัมย์ ยอมรับกระทบหาก 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่แบนไม่รับซื้อยางพาราภาคอีสาน นายกฯยางอีสานฯชี้ที่มีข่าวออกมาหวังกดราคา 

             31ส.ค.2559 นายวิชิต ลี้ประเสริฐ นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาระบุถึงกรณีที่มีกระแสข่าว  2 ค่ายยางล้อรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก “มิชลิน และบริสโตน ประกาศแบนไม่รับซื้อยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานของไทย หลังพบมีการใส่ “กรดซัลฟิวริก” ในน้ำยาง เพื่อช่วยให้ยางเซทตัวเร็วขึ้น แต่ส่งผลต่อคุณภาพยางล้อรถยนต์เสื่อมสภาพเร็ว ยอมรับว่าหาก 2 บริษัทหยุดรับซื้อยางของภาคอีสานจริง ก็จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถขายน้ำยางหรือยางแผ่นได้ แต่อาจจะเป็นผลกระทบในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะการปรับเปลี่ยนจากการใช้กรดซัลฟัวริก ไปเป็นกรด ฟอร์มิก แทนเพื่อให้น้ำยางหรือยางแผ่นมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด สามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก แต่เกษตรกรอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งกรณีดังกล่าวทางสมาคมฯ ก็จะได้หารือกับสมาชิก รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สกย. สถาบันวิจัยยาง หรือการยางแห่งประเทศไทยในพื้นที่จังหวัด เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้หันมาปรับเปลี่ยน การใช้กรดในน้ำยางโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น 

             นายกสมาคมชาวสวนยาง ยังระอีกว่า จากข้อมูลพบว่ายังมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราบางส่วนที่ยังใช้สารซัลฟัวริก ในน้ำยาง เนื่องจากมีราคาถูกกว่ากรด ฟอร์มิก แต่ส่วนใหญ่ก็จะใช้กับยางก้อนถ้วยมากกว่า ส่วนเกษตรกรที่ทำยางแผ่นได้หันมาใช้กรดฟอร์มิก ตามที่ทาง สกย. และสถาบันวิจัยยางได้ออกมาแนะนำให้ความรู้ก่อนหน้านี้  ดังนั้นเมื่อมีกระแสข่าวดังกล่าวเกษตรกรเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนการผลิตยางให้มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรเอง ซึ่งในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั้งจังหวัดกว่า 13,000 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกกว่า 276,700 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 202,308 ไร่ แต่ละปีมีผลผลิตกว่า 69,000 ตัน สร้างรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 3,400 ล้านบาท หรือขึ้นอยู่กับภาวะราคายางที่รับซื้ออุดรธานี  - นายกสมาคมยางอีสานซัดข่าว 2 บริษัทใหญ่แบนยางอีสาน  
 
นายกฯยางอีสานฯชี้ที่มีข่าวออกมาหวังกดราคา 
 
             ที่ทำการสหกรณ์กองทุนพัฒนายางพาราเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางอุดรธานี จำกัด ที่อยู่ที่ ต.นายูง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี เพื่อพบ นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน ที่เดินทางมาร่วมประชุมกับสมาชิกของสหกรณ์ฯ ในการคัดเลือกกรรมการสหกรณ์ฯชุดใหม่ที่หมดวาระ โดยการประชุมมีการพูดถึงการให้เกษตรกรชาวสวนยาง รณรงค์การใช้กรดฟอร์มิกแทนกรดซัลฟูริกด้วย
 
             หลังจากประชุม นายธีระชัย แสนแก้วนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน เปิดเผยว่า เรื่องของการใช้สารซัลฟูริก เราเคยพูดกันมา 2 ปีแล้ว ซึ่งทางสมาคมฯ ที่เป็นเสมือนที่ปรึกษาเกษตรกรชาวสวนยางในภาคอีสานทั้งหมด มีการประชุมกันทุกเดือน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ ร่วมกับเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย เรื่องที่เราทราบข่าว แต่ยังไม่เป็นทางการ ซึ่งความจริงข่าวแบบนี้ออกมาได้ 2 ปีแล้ว พอเลยเวลาข่าวก็หายไป แต่ที่ผ่านมาเราก็ทำการรณรงค์ใฝห้เกษตรกรชาวสวนยางเปลี่ยนจากการใช้กรดซัลฟูริก มาใช้เป็นกรดฟอร์มิกให้มากที่สุด เราเชื้อว่าขณะนี้ชาวสวนยางเปลี่ยนมาใช้กรดฟอร์มิกถึง 60 เปอร์เซนต์แล้ว
 
             “ขณะที่ทางผู้ซื้อ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของการผลิตยางรถยนต์ เราก็ยังไม่เห็นเขาออกมาพูดเรื่องนี้โดยตรง เห็นแต่ผู้รับซื้อยางจากชาวสวนยางส่งให้กับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ออกมาพูดว่า ทางบริสโตนและมิชลินไม่รับซื้อยางอีสาน ทำให้ผมคิดว่ามันไม่ใช่เพราะยางอีสาน แต่มันกระทบไปในทุกภาคของประเทศ ทั้งที่ความจริงแล้งยางอีสานเป็นน้ำยางที่มีคุณภาพดีที่สุด นิยมนำไปทำยางแท่งSTR 20เมื่อข่าวออกมาอย่างนี้ทำให้มองได้ 2 ประการ คือ 1 เราต้องรู้ว่า กรดซัลฟูริกที่สร้างขึ้นมา ได้รับความเห็นชอบจากกรมไหน กระทรวงไหน ที่สามารถชี้ขาดได้ว่า กรดดังกล่าวนำมาใช้ไม่ได้ 2 กระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ ที่ต้องยืนยันว่า การใช้กรดซัลฟูริกทำให้ยางไม่มีคุณภาพ ที่ต้องทำเป็นเอกสารออกมาแจงเป็นข้อ ๆ ประกาศยืนยันให้ชาวสวนยางทราบว่า กรดดังกล่าวไม่สามารถนำมาใชข้ได้ หากใช้จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง ให้แจงในส่วนนี้ออกมา”
 
             นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ เราได้พยายามรณรงค์ ในการที่จะทำให้ยางของภาคอีสานมีคุณภาพดี เพื่อที่จะจำหน่ายได้ราคาสูง แต่การที่มีการออกมาพูดครั้งนี้ สามารถมองได้หลายแง่ ซึ่งราคายางแผ่นดิบรมควันชั้นต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ กำลังมีแนวโน้มราคายางจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคายางก้อนถ้วยที่ชาวสวนยางภาคอีสานที่มีปริมาณมากราคาจะสูงตามขึ้นด้วย จาก 2 เดือนที่แล้วราคา กก.ละ 13 บาท แต่วันนี้ราคาขึ้นมาถึง 24-25 บาท พอมีข่าวนี้ออกมาก็ทำให้ราคาลดลงไปเหลือ 21 บาทเท่านั้น ทำให้ชาวสวนยางภาคอีสานได้รับผลกระทบไปด้วย
 
             “ฉะนั้นการออกมาพูดอย่างนี้ตัองมีหลักฐานยืนยันว่า มิชลินและบริสโตนไม่ซื้อยางอีสาน และทางโรงงานรับซื้อยางไม่ใช่มาพูดแต่ปาก เพราะว่าถึงเวลาก็ให้ลูกน้องไปประมูลยาง นำยางลงไปภาคใต้ ไประยอง ไปให้บริษัทตัวเองผลิต ผสมกับเพื่อที่จะส่งออกอีกทีหนึ่ง ทำให้ดูเหมือนว่า มันเป็นการกดดันราคา เพื่อที่จะให้ต่ำลง ซึ่งชาวสวนยางเขามองว่าอย่างนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร ทางสมาคมเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน เห็นว่ เมื่อทาง บ.ศรีตรัง จะไม่ซื้อยางอีสาน เราก็จะไม่ไปขายให้ บ.ศรีตรัง เพราะว่าเรื่องดังกล่าวผู้บริหารของ บ.ศรีตรังฯ ออกมาพูดเพียงบริษัทเดียว”
 
             นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การออกมาพูดควรที่จะพูดในนามของสมาคมผู้ประกอบการยางทั้งประเทศ เพื่อที่จะได้มีการรณรงค์ไม่ใช้กรดซัลฟูริกอย่างเต็มที่ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ให้ออกมาประกาศในนามสมาคมยางพาราแห่งประเทศไทยว่า จะไม่มีการรับซื้อยางพาราที่ใช้กรดซัลฟูริก เพราะว่าเรื่องใดบ้าง ให้ประกาศออกมาเป็นหนังสือเลย และที่ผู้ซื้อจากต่างประเทศไม่รับซื้อก็ให้บอกมาให้ชัดเจน เกษตรกรเราจะได้มีการปรับปรุง และทางส่วน ทุกหน่วยงาน จะได้ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ที่จะออกร่วมรณรงค์ให้เกษตรกรทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ไม่ใช้กรดซัลฟูริก แต่ทั้งนี้ขอทราบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเท่านั้น ต้องรณรงค์ทุกวัน ไม่ใช่พอครบปีราคายางขึ้น ก็ออกมาพูดครั้งหนึ่ง เราอดที่จะมองว่า มีการแย่งชิง มีการกดราคาแบบนี้ไม่ได้
 
             “ขอให้ผู้ประกอบการของทั้ง 2 บริษัท คือ บริสโตนและมิชลิน ออกมาพูด รวมทั้งมาให้คำแนะนำกับเกษตรกรว่าเราต้องทำอย่างไร เพราะเราที่มีหน้าที่ผลิตส่งวัตถุดิบให้เขา เพื่อที่จะได้ทำให้ถูกต้อง ได้คุณภาพ เพราะเราก็ไม่อยากจะให้เสียชื่อของประเทสไทยเหมือนกัน ในสภาวะยางราคาตกต่ำอย่างนี้ เราก็อยากได้ราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ในภาคอีสาน เราทำการรณรงค์ใช้กรดฟอร์มิกแล้วถึง 60 เปอร์เซนต์ แต่ที่ผ่านมาเราก็พบปัญหา เมื่อเลิกใชกรดซัลฟูริก และหันไปใช้กรดฟอร์มิก แต่กลับไปเจอกรดฟอร์มิกปลอม เราจึงเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาดูแลเรื่องนี้ เพราะเราเหมือนหนีเสือปะจระเข้ จะไปว่าเกษตรกรมักง่ายก็ไม่ได้ ภาคราชการต้องเข้ามาให้ความรู้กับเขา เพื่อว่าเกษตรกรทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อเป็นอย่างนี้ทุกส่วนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดเช่นกัน” นายธีระชัย กล่าวในที่สุด

 

ชาวสวนยางบึงกาฬ เศร้าบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่รับซื้อยางก้อนถ้วยผสมน้ำกรด
 
              นายสงกรานต์ คำพิไสย์ อดีตกรรมการบริหารกิจการองค์การสวนยาง และผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางพารา กล่าวว่า จากกระแสข่าวดังกล่าวทำเอากลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราต้องพบกับข่าวเศร้าหนัก เนื่องจากปัจจุบันราคายางพาราก็ต่ำเตี้ยติดดินอยู่แล้ว ซึ่งยางก้อนถ้วยหรือขี้ยางจะรับซื้ออยู่ที่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม การออกมาให้ข่าวเช่นนี้ของ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหารบริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี นับว่าไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มเกษตรกรโดยตรงและบริษัทที่รับซื้ออย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มเกษตรพยายามทำตัวเป็นลูกค้าหรือผู้ขายที่ดี แม้ราคาจะตกต่ำเพียงไรก็ยังทนสู้ไม่ยอมเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ความเป็นจริงแล้วทางบริษัทที่ให้ข่าวนี้ถ้าอยากจะได้คุณภาพยางก้อนถ้วยแบบไหนอย่างไรก็น่าจะมีการพูดคุยตกลงกันผ่านตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางหรือผ่าน กยท.ก็ได้ 

             นายสงกรานต์กล่าวต่อไปว่า การใช้ "กรดซัลฟิวริก" ผสมน้ำยางก็เพราะทำให้น้ำยางแข็งตัวเร็วและมีราคาถูก ลำพังเกษตรกรหรือผู้ประกอบการยางก้อนถ้วยเองก็อยากจะเลิกใช้ "กรดซัลฟิวริก" เป็นส่วนผสมน้ำยางอยู่แล้ว เนื่องจากว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนนขณะขับรถอยู่บนถนนที่มีความเปียกชื้นและมีน้ำกรดตกลงจากรถยนต์บรรทุกขี้ยาง จึงทำให้ถนนลื่นบังคับพวงมาลัยไม่ได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนหลายครั้ง เมื่อถนนเปียกน้ำฝนหรือน้ำหมอกน้ำค้าง จากข่าวนี้จึงเป็นเสมือนว่าบริษัทรับซื้อยางจากภาคอีสานต้องการเขย่าราคาให้ตกต่ำลงไปอีก ถึงวันนั้นเกษตรกรชาวสวนยางคงต้องพร้อมใจกันโค่นต้นยางทิ้งไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน นายสงกรานต์กล่าวอย่างมีอารมณ์

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ