ข่าว

“สามารถ” ชี้แค่ลดราคารถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่พอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สามารถ” ชี้ รฟม. ลดค่ารถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็ไม่ช่วยเพิ่มผู้โดยสาร แนะทำการตลาดเชิงรุก เพิ่มผู้ใช้บริการโดยจัดชัตเติลบัสรับส่ง ย้ำหากไม่ทำไม่มีวันคุ้มทุน

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” ถึงกรณีที่ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศลดค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมที่จอดรถ ไปจนกว่าจะเชื่อสถานนี้เตาปูนบางซื่อได้ พร้อมระบุว่าจะช่วยให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30% ว่า ส่วนตัวมีความเป็งเรื่องดังกล่าว 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การกระตุ้นให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30% ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีการลดค่าโดยสารและค่าที่จอดรถแล้วก็ตาม เพราะตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีแหล่งทำงานขนาดใหญ่น้อย มีการใช้อีกทั้งมีแหล่งที่อยู่อาศัยที่ไม่หนาแน่นมาก โดยมีหมู่บ้านกระจัดกระจาย ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ไกลจากสถานี ทำให้การเดินทางเข้าออกสถานีไม่สะดวก

    จากการกรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนใหญ่จะต้องเดินทางเข้าไปทำงานในตัวเมือง ซึ่งถ้าเขาต้องใช้รถไฟฟ้าเพื่อเดินทางไปทำงาน เขาจะต้องเปลี่ยนรถไฟฟ้าหลายต่อ เสียค่าโดยสารแพง และใช้เวลาการเดินทางไม่น้อย รถไฟฟ้าจึงไม่สามารถจูงใจคนเหล่านี้ได้ ดังนั้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงและค่าที่จอดรถจะต้องถูกมากถึงจะจูงใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า ซึ่งรฟม.สามารถปรับลดราคาได้ เพราะรฟม.ลงทุนเองทั้งหมด ต่างกับรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินที่เอกชนลงทุนทั้งหมด และลงทุนบางส่วนตามลำดับ ทั้งนี้การลดค่าโดยสารและค่าที่จอดรถเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30% ได้ ดังนั้น รฟม.จะต้องทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วยขนคนจากบ้านมาสู่สถานี ดังที่บีทีเอสได้เคยทำในช่วงแรกๆ ของการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยจัดให้มีชัตเติลบัสวิ่งระหว่างแหล่งทำงาน แหล่งที่อยู่อาศัยกับสถานีหลายสาย ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยสรุป ถึงเวลานี้จำเป็นที่รฟม.จะต้องบริหารงานแบบเอกชนเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเจริญเติบโตให้ได้

    นายสามารถระบุต่อไปว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับท่านประธานบอร์ดรฟม. ที่กล่าวว่าไม่เน้นเรื่องกำไรขาดทุน เพราะเป็นบริการสาธารณะ แต่ตนเห็นว่าทาง รฟม.จะต้องทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนน้อยที่สุด ไม่สร้างภาระหนักให้กับรัฐบาล หากรฟม.ไม่เร่งทำการตลาดเชิงรุกแบบเอกชน แม้ว่าจะลดราคาลงแล้วก็ตาม ก็จะไม่สามารถทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 30% ได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การขาดทุนก็จะเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณวันละ 20,000 คน รฟม.มีรายได้จากค่าโดยสารวันละประมาณ 600,000 บาท นั่นหมายความว่าผู้โดยสารเสียค่าโดยสารเฉลี่ยคนละ 30 บาท หากลดค่าโดยสารลงมาเป็น 14-29 บาท ตนคาดว่าค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนจะลดลงเหลือประมาณ 20 บาท ดังนั้น รฟม.จะมีรายได้ลดลงเหลือวันละประมาณ 440,000 บาท (20,000 คน X 10% X 20 บาท) ในขณะที่รฟม.ต้องจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาวันละ 3.6 ล้านบาท สำหรับปีแรกที่เปิดให้บริการ ดังนั้น รฟม.จะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3.16 ล้านบาท จากปัจจุบันวันละ 3 ล้านบาท

    “ด้วยเหตุนี้ รฟม.จะต้องหาทางทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% จากจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันวันละประมาณ 20,000 คน หรือเพิ่มขึ้นเป็นวันละไม่น้อยกว่า 30,000 คนให้ได้ จึงจะทำให้ลดการขาดทุนในปีนี้ลงได้ แต่ในปีหน้าจำนวนผู้โดยสารจะต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ไม่เช่นนั้นนั้น รฟม.จะขาดทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะจะต้องจ่ายค่าจ้างบีอีเอ็มเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 5.1 ล้านบาท จากปัจจุบันวันละ 3.6 ล้านบาท ดังนั้น การที่ท่านประธานบอร์ดรฟม.คาดหวังว่า ต้องรอระยะยาวจึงจะคุ้มทุนนั้น หากไม่สามารถทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ จะไม่มีวันที่จะคุ้มทุน ไม่ว่าจะรอนานเพียงใดก็ตาม”นายสามารถกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ