ข่าว

'บ้านไม้ไผ่'ทุนต่ำสู้ภัยน้ำท่วม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถาปนิกเวียดนามออกแบบ 'บ้านไม้ไผ่ลอยน้ำต้นทุนต่ำ' สู้ภัยน้ำท่วม

 

'บ้านไม้ไผ่'ทุนต่ำสู้ภัยน้ำท่วม!


ต้นแบบบ้านไม้ไผ่ลอยน้ำต้นทุนต่ำ

 

                         บริษัทออกแบบในประเทศเวียดนาม “เอชแอนด์พี อาร์คิเทคส์” เผยแบบบ้านไม้ไผ่ลอยน้ำต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายไม่ถึง 6.3 หมื่นบาทต่อหลัง หวังเป็นทางออกสำหรับคนยากไร้ที่สูญเสียบ้านจากเหตุอุทกภัยหรืออาศัยอยู่ในเขตน้ำท่วมซ้ำซาก

                         เวียดนามเป็นประเทศที่ประสบอุทกภัยอย่างหนักเป็นประจำทุกปี เนื่องจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกมีลักษณะเปิดโล่งรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านทะเลจีนใต้ เราจึงมักได้ยินข่าวพายุขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาอิทธิพลของลมมรสุมและพายุหมุนเขตร้อนส่งผลให้ประชาชนจำนวนมาก (ส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้) สูญเสียที่อยู่อาศัยไปกับลมพายุและสายน้ำ และนี่ก็คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ “เอชแอนด์พี อาร์คิเทคส์” ออกแบบบ้านไม้ไผ่ลอยน้ำต้นทุนต่ำ หวังช่วยให้ผู้ประสบภัยดำรงชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัยและถูกสุขลักษณะแม้ในขณะน้ำท่วม

 

'บ้านไม้ไผ่'ทุนต่ำสู้ภัยน้ำท่วม!

ภาพจำลองขณะน้ำท่วม

 

                         สาเหตุที่ “เอชแอนด์พี อาร์คิเทคส์” เลือกใช้ไม่ไผ่เป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้าน เนื่องจากเป็นไม้ที่มีความทนทาน ใช้งานได้หลากหลาย หาได้ทั่วไปในพื้นที่ ซึ่งตรงกับแนวคิดที่ต้องการให้เป็นบ้านแบบพอเพียง ราคาประหยัด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เทคนิคในการก่อสร้างแบบดั้งเดิม

                         ขั้นตอนแรกของการสร้างบ้านไม้ไผ่ลอยน้ำก็คือการลงเสาเหล็ก (เชื่อมตามแบบที่กำหนด) 4 ต้นเพื่อให้ตัวบ้านลอยขึ้นลงภายในกรอบที่กำหนดและยึดตัวบ้านไว้ไม่ให้ไหลไปกับสายน้ำ (เบื้องต้นสามารถลอยน้ำสูง 1.5 เมตร อยู่ในระหว่างการทดสอบและพัฒนาให้รับน้ำท่วมสูง 3 เมตร) หลังลงเสาเหล็กเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มสร้างฐานหรือส่วนที่เป็นทุ่นลอยน้ำ ซึ่งประกอบด้วยโครงไม้ไผ่และถังน้ำมันใช้แล้วความจุ 200 ลิตร หลังจากนั้นจึงสร้างส่วนของพื้นและตัวบ้าน โดยแบ่งโครงสร้างของบ้านออกเป็น 2 ส่วน (หรือ 2 บล็อค) แต่ละส่วนมีขนาด 3.3 x 6.6 เมตร

 

'บ้านไม้ไผ่'ทุนต่ำสู้ภัยน้ำท่วม!


                         บ้านไม้ไผ่ลอยน้ำดังกล่าวนี้มีทั้งหมด 2 ชั้น เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกไม่เกิน 6 คน (สามารถต่อขยายให้เป็นบ้านสำหรับ 8 คนได้) ชั้นล่างเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ส่วนชั้นบนมีลักษณะคล้ายห้องใต้หลังคา สามารถใช้เป็นมุมพักผ่อนและเป็นทางออกฉุกเฉินได้ด้วย เนื่องจากผนังบริเวณนี้ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างระบายลมจึงสามารถเปิดปิดได้ เช่นเดียวกับชานบ้านและกันสาดทางด้านล่างที่สามารถพับปิดทับประตูอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันพายุ นอกจากนี้ บริเวณผนังด้านนอกยังถูกออกแบบให้ใช้เป็นสวนแนวตั้งสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวหรือไม้ดอกไม้ประดับอีกด้วย

                         สำหรับไม้ไผ่ที่นำมาใช้สร้างบ้านนั้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 8-10 ซ.ม. เห็นเป็นบ้านไม้ไผ่อย่างนี้แต่ก็มีระบบกักเก็บน้ำฝน พร้อมระบบกรองน้ำใช้และรีไซเคิลน้ำเสีย ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมระบบสุขาภิบาลหลักจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ (วันเวย์ วาล์วจะปิดเองโดยอัตโนมัติเมื่อบ้านลอยขึ้น) แต่ผู้อาศัยจะยังคงใช้ห้องน้ำได้อยู่เพราะมีถังสำรองสำหรับเก็บของเสีย

 

'บ้านไม้ไผ่'ทุนต่ำสู้ภัยน้ำท่วม!

 

                         ความจริงแล้ว “บ้านไม้ไผ่ลอยน้ำต้นทุนต่ำ” ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถใช้เป็นบ้านพักฉุกเฉินหรือศูนย์อพยพสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติอื่นๆ อาทิ แผ่นดินไหว ดินถล่ม เพลิงไหม้ ฯลฯ เพราะใช้งบประมาณไม่ถึง 2 พันเหรียญสหรัฐ (ไม่ถึง 6.3 หมื่นบาท) ต่อหลัง และใช้เวลาในการก่อสร้างไม่ถึงหนึ่งเดือน แถมวิธีการก่อสร้างก็ไม่ซับซ้อนและเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม ผู้สนใจจึงสามารถสร้างตามแบบได้ไม่ยาก

 

 

-----------------------

(หมายเหตุ : ที่มา : http://paow007.wordpress.com/ : via designboom)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ