ข่าว

เดินหน้าทำฝนหลวงดับไฟป่าพรุควนเคร็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรฯ เร่งเดินหน้าปฏิบัติการฝนหลวงดับแล้ง ดับไฟป่าพรุควนเคร็ง เผยผลปฏิบัติการ ฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้ว่าฯ เมืองขุนแผน ซ้อมรองรับน้ำท่วม ด้านอุตุฯ เชียงใหม่ เผยปีนี้เขื่อนอาจมีน้ำน้อย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 55  นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมของทุกปี ถือเป็นระยะของฝนทิ้งช่วงตามฤดูกาลปกติ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนโดยรวมของประเทศลดน้อยลง ทำให้พืชผลทางการเกษตรในหลายพื้นที่ทุกภาคของประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ได้แก่ ภาคเหนือ ส่วนใหญ่ทางตอนล่างของภาค โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง เกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกือบทุกจังหวัด ยกเว้นหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ภาคตะวันออก บางจังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง สระแก้ว จันทบุรี และภาคใต้ ส่วนใหญ่ทางฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลาสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมถึงมีไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง

          ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ ได้เกิดพายุหมุนเขตร้อนหลายลูกติดต่อกันในแถบประเทศฟิลิปปินส์แล้วเคลื่อนตัวขึ้นไปทางตอนล่างของประเทศจีน ทำให้กระแสลมที่พัดผ่านประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรงและมีเมฆชั้นกลางชั้นสูงหนาแน่นปกคลุมท้องฟ้า บดบังความร้อนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดเมฆฝน และเป็นอุปสรรคต่อการทำฝนหลวง คือ เมฆฝนจะก่อตัวช้าแต่เคลื่อนที่เร็วตามกระแสลม เมื่อตกเป็นฝนจะผ่านไปเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำฝนต่อพื้นที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น 

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าสภาพอากาศที่เป็นสาเหตุของฝนทิ้งช่วงจะผ่านพ้นไปประกอบกับตำแหน่งการก่อตัวและแนวการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนจะเลื่อนต่ำลงมาและโอกาสที่จะเกิดฝนในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป

          สำหรับการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือ ซึ่งได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทุกศูนย์เพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงและระดมปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างเร่งด่วน โดยปัจจุบันมีเครื่องบินร่วมปฏิบัติการฝนหลวง รวม 24 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 ลำ และเครื่องบินของกองทัพอากาศร่วมสนับสนุน 4 ลำ  เพื่อปฏิบัติการตามหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ได้ตั้งขึ้นขณะนี้ รวม 10 หน่วย ได้แก่ ภาคเหนือ ตั้ง 2 หน่วย ที่จังหวัดเชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง ตั้งหน่วย 2 หน่วย ที่จังหวัดกาญจนบุรี และลพบุรี และมีฐานเติมสารฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้ง 4 หน่วย ที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และอุดรธานี และมีฐานเติมสารฝนหลวงที่จังหวัดร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก ตั้ง 1 หน่วย ที่จังหวัดระยอง และมีฐานเติมสารฝนหลวงที่จังหวัดสระแก้ว ภาคใต้ ตั้ง 1 หน่วย ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และมีฐานเติมสารฝนหลวงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่ผ่านมา จากสาเหตุที่กระแสลมตะวันตกมีกำลังแรงในระยะนี้ ทำให้หลายจังหวัดที่อยู่ติดภูเขาด้านตะวันออก (ด้านท้ายลม) กลายเป็นพื้นที่อับฝน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ แต่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วย ยังสามารถปฏิบัติการให้เกิดฝนในพื้นที่เป้าหมายได้เกือบทุกวัน แต่ส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนหนักบ้างในบางพื้นที่ แต่การกระจายตัวของฝนยังไม่เพียงพอทั่วถึง ซึ่งแผนปฏิบัติการฝนหลวงในระยะต่อไปหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยจะยังคงเน้นปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการฝนเร่งด่วนต่อไป และคาดหมายว่าในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม สภาวะที่กระแสลมตะวันตกมีกำลังแรง และปริมาณเมฆชั้นกลางที่ปกคลุมท้องฟ้าจะลดลง ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณและการกระจายของฝนได้ดีขึ้น และสถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มคลี่คลายไป

          ทางด้านความคืบหน้าการทำฝนหลวงเพื่อร่วมกับหน่วยภาคพื้นดินในการควบคุมและดับไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งนั้น สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไปตั้งฐานที่สนามบิน จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เพื่อทำฝนดับไฟป่าพรุควนเคร็งรวมทั้งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้งในทุกอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และตอนบนของจังหวัดสงขลาที่ร้องขอเพิ่มเติมมา โดยในระยะแรกมีเครื่องบินกาซ่า ไปปฏิบัติการเพียง 1 ลำ เนื่องจากเครื่องบินลำอื่นๆ ติดภารกิจทำฝนหลวงแก้ไขปัญหาภัยแล้งในทุกภาคของประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 จึงได้ส่งเครื่องบินคาราแวนไปสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 3 ลำ รวมเป็น 4 ลำ 

          การปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนมิถุนายน ได้ขึ้นปฏิบัติการรวม 5 วัน มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายด้านการเกษตรรวม 4 วัน แต่ยังไม่สามารถบังคับให้เกิดฝนบริเวณป่าพรุควนเคร็งได้ เนื่องจากกระแสลมตะวันตกมีกำลังแรงมาก ต่อมาในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้ขึ้นบินทำฝนรวม 22 วัน มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายด้านการเกษตรรวม 20 วัน เป็นฝนที่ตกในบริเวณป่าพรุควนเคร็ง 13 วัน ทำให้ความรุนแรงของไฟป่าพรุลดลงได้ระดับหนึ่ง แต่ในเดือนสิงหาคมยังคงมีการจุดไฟเผาป่าพรุเพิ่มเติม ทำให้ปัญหาไฟไหม้ป่าพรุมีความรุนแรงมากขึ้น จึงได้สั่งการให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรจัดส่งเครื่องบินคาราแวนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 3 ลำ รวมเป็น 4 ลำ 

          โดยผลการทำฝนหลวงระหว่างวันที่ 1-20 สิงหาคม 2555 ขึ้นบินปฏิบัติการรวม 15 วัน จากผลการตรวจกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ของสถานีตรวจอากาศภูเก็ต พบว่ามีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายด้านการเกษตรรวม 15 วัน และมีฝนตกในบริเวณป่าพรุควนเคร็งรวม 9 วัน โดยเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลางและเป็นฝนหนักในบางวัน โดยเฉพาะในการขึ้นโจมตีเมฆเหนือบริเวณป่าพรุเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ทำให้มีฝนตกหนาแน่นนานกว่า 30 นาที และได้รับรายงานจากหน่วยภาคพื้นดินว่าไฟป่าพรุและกลุ่มหมอกควันลดลงทั่วไป แต่ยังมีอีกหลายจุดที่ยังคงคลุกลุ่นอยู่  ทั้งนี้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ภาคพื้นดิน ต่อไปจนกว่าจะสามารถดับไฟป่าพรุได้สำเร็จสมบูรณ์

 

ผู้ว่าฯ เมืองขุนแผน ซ้อมรองรับน้ำท่วม

 

          นายสุภัทร์ ศรีสุนทรพินิต รอง ผวจ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ทางจังหวัดฯได้เตรียมซ้อมแผนรองรับน้ำท่วม ที่เรายังเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จ.สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ มีหน่วยงานของทางราชการอย่างเช่น เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกผลกระทบเมื่อปี 2554 มาแล้วทั้งสิ้น 

          เรื่องนี้ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ผวจ.สุพรรณบุรี ได้มีคำสั่งให้มีการเตรียมพร้อมโดยให้ นายสมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ รอง ผวจ. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ปลัดจังหวัด นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี นางสมเจตน์ พรหมสุนทร หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุพรรณบุรี นายอำเภอทุกอำเภอ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมของบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทราบแนวทางการปฏิบัติการสั่งการ บูรณาการ การประสานงานการทำงานร่วมกัน เมื่อเกิดภัยขึ้น โดยสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดภัยขึ้นและมีความมั่นใจในความปลอดภัย อย่างกระสอบทรายกั้นน้ำ ส้วมฉุกเฉิน ยารักษาโรค ศูนย์พักพิงชั่วคราว เต็นท์นอนชั่วคราว น้ำดื่ม ถุงยังชีพ โรงพยาบาลสนาม 

          ส่วนเครื่องมือหนักให้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ทันทีคาดว่าทุกหน่วยงานได้มีประสบการณ์ เมื่อ ปี 2554 มาด้วยกันทั้งนั้น คงประสานงานกันอย่างไม่มีปัญหา อย่างเทศบาลเมืองคงไม่ต้องห่วงเพราะเครื่องมือเครื่องใช้ เทศบาลเมืองสุพรรณบุรีมีความพร้อมสูง แต่ก็ไม่ประมาทถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นเราต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

 

อุตุฯ เชียงใหม่ เผยปีนี้อาจมีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย

 

          นายจรูญ เลาหเลิศชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 22-25 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียง ใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือมีฝนหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านพม่า ลาว และเวียดนามตอนบน แต่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือมีฝนอยู่ในเกณฑ์กระจายถึงเกือบทั่วไป

          นอกจากนี้พายุ "เทมบิง (TEMBIN)" จะเคลื่อนตัวผ่านเกาะไต้หวันในช่วงวันที่ 23-24 ส.ค. หลังจากนั้นจะมีพายุ "โบลาแวน (BOLAVAN)" จะเคลื่อนตัวผ่านเข้ามายังตอนเหนือของเกาะไต้หวัน และประเทศจีนด้านตะวันออก ดังนั้นในช่วงวันที่ 22-25 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และหลังจากช่วงนี้ไปโอกาสที่ในพื้นที่ภาคเหนือจะได้รับผลกระทบจากพายุที่จะเข้ามามีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากมีความกดอากาศสูงจากทางซีกโลกใต้พัดปกคลุมเข้ามาในพื้นที่ ร่วมได้ส่วนใหญ่จะเคลื่อนผ่านไปยังประเทศจีน ซึ่งอาจจะทำให้ช่วงฤดูฝนในปีนี้ พื้นที่ภาคเหนืออาจจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงฤดูฝนในปีนี้จากการคาดการณ์จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม  

          ด้านนายวิทยา สวนแก้วมณี ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 1 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ในขณะนี้ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่กำหนดไว้ โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 97.5 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุด 293.00 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36% ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 94 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำกักเก็บสูงสุดที่ 263 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของความจุอ่าง และคาดว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตรของประชาชนในช่วงฤดูแล้ง  

          อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ในเขตชลลประทานประสบปัญหาภัยแล้ง ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ก็ได้มีการจัดเตรียมแผนช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เขตชลประทาน ที่ด้วยการจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง เพื่อนำน้ำไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าในพื้นที่เขตชลประทานจะไม่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ