ข่าว

ระบบการเรียนย้อนหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การศึกษา : มธบ.พัฒนา 'ระบบการเรียนย้อนหลัง' ช่วยนักศึกษาเรียนรู้ 'สู้ภัยน้ำท่วม' : โดย ... ชุลีพร อร่ามเนตร

          จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2554 ออกไปอีก 2 สัปดาห์ ทำให้นักศึกษาเรียนไม่ครบ 15 สัปดาห์ตามหลักสูตร “รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมธบ. จึงมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา มธบ. จัด “ระบบการเรียนย้อนหลัง” เพื่อช่วยนักศึกษาเรียนทัน ครบตามหลักสูตร

          ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา มธบ.ได้คิดค้น พัฒนา โดยศึกษารูปแบบจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเกาหลี โดยใช้เวลา 6 เดือน ก่อให้เกิดระบบการเรียนย้อนหลัง รศ.ดร.วรากรณ์ เล่าว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่บันทึกการสอนของอาจารย์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ทั้งเสียง และเนื้อหาสาระจากสื่อการเรียนการสอน อย่าง เพาเวอร์พอยต์ เพื่อช่วยให้นักศึกษาที่เรียนไม่ทัน หรือไม่เข้าใจในห้องเรียน สามารถไปเรียนดูย้อนหลังได้ โดยในภาคเรียนที่ 1/2554 ได้นำระบบดังกล่าวมาทดลองใช้บางวิชา บางคณะ แต่ในภาคเรียนที่ 2/2554 ทางมหาวิทยาลัยได้นำระบบดังกล่าวมาใช้ในระดับปริญญาตรีทุกวิชา ทุกสาขา ทุกคณะ โดยตอนนี้ได้ติดตั้งระบบดังกล่าวในห้องเรียนทั้งหมดของมหาวิทยาลัย 177 ห้อง ขณะนี้ มธบ.เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในไทยที่มีการติดตั้งระบบดังกล่าว 100% ไม่ใช่เพียงบางห้อง หรือบางวิชา

          "ประโยชน์จากการนำระบบดังกล่าวมาใช้ นอกจากช่วยนักศึกษาแล้ว ยังกระตุ้นให้อาจารย์มีความตื่นตัว พัฒนาปรับปรุงรูปแบบการสอน เพราะสิ่งที่อาจารย์สอนจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด ตอนแรกอาจทำให้อาจารย์บางท่านอึดอัดได้ เพราะสิ่งที่ถูกบันทึกสามารถดูย้อนหลัง ช่วยในการประเมินคุณภาพของอาจารย์ ดังนั้น ก่อนที่จะมีการใช้ระบบดังกล่าวได้มีการทำความเข้าใจกับอาจารย์ผู้สอน"

          อธิการบดี มธบ.ย้ำว่า หากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้ เชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ อย่างน้ำท่วมได้อีกด้วย

          เมื่อเจอสิ่งใหม่ๆ ธรรมชาติของคนเราย่อมทั้งตื่นเต้น และกังวล อาจารย์ไอซ์ น.ส.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มธบ. เล่าว่า ตอนแรกกังวลเหมือนกัน เพราะไม่เคยลองใช้ นึกภาพไม่ออก และกลัวว่าบทเรียน สื่อการเรียนการสอนที่จัดทำขึ้นมา เมื่อถูกบันทึกจะทำให้ถูกขโมยผลงานได้ แต่เมื่อได้เข้าอบรม ทำความเข้าใจกับระบบ ได้สอนและบันทึกจริงๆ กลับพบว่าเป็นระบบที่ดีมาก เพราะช่วยให้อาจารย์ได้เห็นวิธีการสอนของตัวเองว่าดีหรือไม่ มีนักศึกษาสนใจมากน้อยขนาดไหน เพื่อนำไปปรับปรุง พัฒนาการสอน และค้นหาวิธีการสอนที่เหมาะกับเด็กในแต่ละสาขา รวมถึงช่วยให้อาจารย์ได้มีโอกาสทำผลงานทางวิชาการง่ายขึ้น เพราะเมื่อดูย้อนหลังสามารถเขียนผลงานได้จากสิ่งที่สอนได้

          "เวลาสอน บางครั้งเราลืมนึกถึงบรรยากาศการเรียนการสอนที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ แต่เมื่อได้มาดู ทำให้เราได้เห็นวิธีการสอนของตนเอง ทำให้รู้จักพัฒนาตนเอง และได้แลกเปลี่ยน เห็นเทคนิคการสอนของอาจารย์ท่านอื่นๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการสอนของตัวเอง แถมวิธีการนี้ตรงกับพฤติกรรมของเด็กสมัยนี้ที่ไม่ชอบวิธีการเรียนรูปแบบเดียว ต้องการสื่อ รูปแบบการสอนหลากหลาย อีกทั้งเด็กอยู่กับไอทีค่อนข้างมาก ระบบดังกล่าวเป็นระบบออนไลน์จะช่วยเด็กได้รับสาร มีแหล่งเรียนรู้ ทบทวน สนใจ และเข้าใจบทเรียนมากขึ้น"

          การเรียนผ่านระบบย้อนหลัง เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการทบทวนบทเรียน แต่รูปแบบการเรียนการสอนของมธบ. เน้นทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฏี ดังนั้นระบบดังกล่าว “อ.ไอซ์” ยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลให้เด็กโดดเรียนแล้วไปเรียนย้อนหลังมากขึ้น เพราะมีระบบเช็กชื่อ และคำแนนจากการฝึกภาคปฏิบัติร่วมด้วย

          'น้ำมนต์' น.ส.วรานันทน์ กาไร่ ชั้นปีที่ 1 สาขาวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ และ 'กฤตย์' นายกฤตย สมุทรโคตา ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ ต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ระบบการดังกล่าวช่วยให้นักศึกษาตั้งใจเรียนมากขึ้น ลดการพูดคุยในห้องเรียนได้อย่างดีเยี่ยม เพราะนักศึกษากลัวว่าเสียงพูดของตนเองจะถูกบันทึก อีกทั้งหากมีการพูดคุยมาก เสียงดังกลบเสียงอาจารย์ เวลาไปดูระบบการเรียนย้อนหลัง อาจทำให้ระบบเสียงไม่ชัดเจน

          "ระบบการเรียนย้อนหลังดีมาก เพราะหากนักศึกษามีธุระ หรือป่วย ไม่สามารถมาเรียนในชั้นเรียน หรือฟังคำถามเพื่อนแล้ว ไม่ทันได้ฟังอาจารย์อธิบายก็สามารถเข้าไปเรียนย้อนหลังได้ โดยระบบเข้าง่ายมาก เริ่มจากเข้าหน้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย www.dpu.ac.th กรอกรหัสนักศึกษา เข้าระบบการเรียนย้อนหลัง คลิกต่อไปยังคณะ วิชาที่ต้องการ เสียง การบรรยายของครู อาจารย์ พร้อมด้วยภาพของเนื้อหาสาระบทเรียนจะอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ทันที"

          “เทคโนโลยี” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่หากดำเนินการให้เป็นข้อดี ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มธบ.ภายใต้การดูแลของ อ.ชฎิล เกษมสันต์ ผอ.ศูนย์ และผู้ดำเนินการระบบการเรียนย้อนหลัง นายสาโรจน์ เชิงฉลาด ผู้เขียนโปรแกรม น.ส.จินตนา ปรัสพันธ์ รวมถึงทีมงานทั้งหมด เชื่อมั่นว่าสร้างสรรค์ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่นับวันยิ่งมีความจำเป็นสำหรับเด็กยุคดิจิทัล

 

 

----------

(หมายเหตุ : การศึกษา : มธบ.พัฒนา 'ระบบการเรียนย้อนหลัง' ช่วยนักศึกษาเรียนรู้ 'สู้ภัยน้ำท่วม' : โดย ... ชุลีพร อร่ามเนตร)

----------

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ