ข่าว

นราฯประกาศพื้นที่8อ.เป็นเขตภัยพิบัติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'นราธิวาส' ประกาศ 8 อำเภอ เป็นเขตภัยพิบัติ แม่น้ำ 3 สายทะลักท่วมหลายพื้นที่ เสียหายเป็นวงกว้าง เสียชีวิตแล้ว 1 ราย 'ยะลา'เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประชาชนเดือนร้อนแล้ว กว่า 1,000 ครัวเรือน 'สงขลา'ระดมทราย2หมื่นกระสอบรับน้ำทะเลหนุน

                 26 พ.ย.54 นายธนน เวชกรกานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จ.นราธิวาส ได้ประกาศพื้นที่ 8 อำเภอของ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว มี อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.ระแงะ อ.สุไหงโกลก อ.แว้ง อ.จะแนะ และ อ.ตากใบ

                 นอกจากนี้ น้ำในแม่น้ำสุไหโกลก แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสายบุรีได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของชาวบ้าน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 13 อำเภอ 48 ตำบล 173 หมู่บ้าน มีผู้ประสบภัย 7,372 ครอบครัว เจ้าหน้าที่ได้อพยพชาวบ้านแล้ว 288 คน ถนนเสียหาย 19 สาย โรงเรียน 22 แห่ง และมีผู้เสียชีวิตที่ อ.จะแนะ 1 ราย เนื่องจาก ยืนแช่น้ำเวลานาน

 

ยะลาเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปชช.เดือนร้อนแล้ว กว่า 1,000 ครัวเรือน

                 นายแวโรจน์ สายทองแท้ หัวหน้างานปกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา กล่าวว่า ระยะนี้ เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้น้ำในแม่น้ำปัตตานีและสายบุรี เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ริมชายฝั่งและเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม ภายในเขตเทศบาลนครยะลา และในพื้นที่ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา และมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้ว กว่า 1,000 ครัวเรือน

                 ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเรือท้องแบน และเครื่องมือ อุปกรณ์เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว พร้อม
นำสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค ไปแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว

 

สงขลาระดมทราย2หมื่นกระสอบรับน้ำทะเลหนุน

                 นายสมชาย  เมฆาอภิรักษ์  รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา เปิดเผยว่า ชายหาดสงขลากำลังประสบกับปัญหาคลื่นลมซึ่งมีกำลังแรงและความสูงถาโถมเข้าใส่ชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระหว่างนี้ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงกว่าหน้ามรสุมปกติ โดยคลื่นสูงประมาณ2-3เมตรทำให้ความแรงของน้ำสามารถข้ามกระสอบทรายเข้ามากัดเซาะชายฝั่งเลียบถนนหาดชลาทัศน์มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ทำให้แนวทิวสนที่ยืนต้นตระหง่านบริเวณชายหาดได้รับความเสียหายอย่างหนักจนถึงขั้นล้มไปแล้วหลายสิบต้น

                 ล่าสุด เทศบาลฯได้ระดมกระสอบทรายจำนวน20,000 กระสอบมาวางทับและกดอัดแนวทิวสนบริเวณชายหาดที่ถูกน้ำทะเลเซาะโคนและราก เพื่อสกัดไม่ให้ต้นสนล้มลงไปมากกว่านี้เพราะแนวทิวสวนถือเป็นกำบังลมชั้นดีให้กับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวฯชายหาดในหน้ามรสุมได้เป็นอย่างดี

                 “ได้เร่งนำกระสอบทราย 2หมื่นกระสอบ มาป้องกันต้นสนไว้ก่อนเพื่อให้พยุงต้นสน และเพื่อลดแรงกระแทกของคลื่นที่เข้าปะทะรากต้นสนไม่ให้ล้มลงไป”รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าว

                 นายสมชาย กล่าวต่อว่า ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายหาดสงขลาเริ่มปรากฎหนักตั้งแต่ปี2542 มาจวบจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นเวลากว่า10ปี ทำให้ชายหาดสีขาวถูกน้ำทะเลกลืนไปแล้วประมาณ400-500 เมตร และในบางจุดพบว่าน้ำทะเลรุกคืบใกล้เข้าหาฝั่งมากขึ้น โดยบางช่วงพบว่าเหลือระยะห่างระหว่างฝั่งไปถึงทะเลไม่กี่สิบเมตรเท่านั้น โดยเฉพาะในบริเวณชุมชนเก้าเส้งพบว่ามีความรุนแรงของปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งมากที่สุด

                 “ปัญหาชายหาดสงขลาหนักหนาทุกปีโดยเฉพาะในช่วงหน้ามรสุม และปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่คลื่นลมมีกำลังแรงทำให้คลื่นไม่เพียงแค่กัดเซาะชายฝั่งเท่านั้นแต่ยังทำให้ต้นสนจำนวนมากบริเวณชายฝั่งล้มลง จึงต้องเร่งหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน”นายสมชาย กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ