ข่าว

น้ำท่วมแนะระวัง'ปลาปากจระเข้'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ปากจระเข้'ปลาเอเลี่ยน คุกคาม'สัตว์น้ำ'พื้นถิ่น : โต๊ะรายงานพิเศษรายงาน

                น้ำท่วมใหญ่คราวนี้ ชาวบ้านริมน้ำตลอดจนผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่างหวาดผวาไม่กล้าลงน้ำ เพราะกลัวจระเข้ที่อาจจะเล็ดลอดหลุดมาออกจากฟาร์มเพาะเลี้ยงต่างๆ ขณะเดียวกันชาวบ้านในหลายพื้นที่ก็ต้องพบกับความเข้าใจผิด เมื่อเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีหน้าตาและปากคล้ายจระเข้ จนคิดไปว่านั่นคือ "ลูกจระเข้" แต่เมื่อพิศดูดีๆ กลับไม่มีหางยาวๆ แหลมๆ แต่มี "ครีบ" คล้ายปลาทั่วไป ซึ่งมันก็คือ "ปลาปากจระเข้" นั่นเอง 

                   กว่า 10 ปีแล้ว..."ปลาปากจระเข้" เป็นที่นิยมของผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ สนนราคาตั้งแต่หลักหมื่นบาทขึ้นไป แต่เมื่อนิยมมากๆ ก็กลายเป็นปลาโหลๆ ราคาถูกที่ใครก็สามารถหาซื้อมาเลี้ยงได้ และสุดท้ายคนเลี้ยงที่ไร้ความรับผิดชอบ ไม่สามารถเลี้ยงดูพวกมันจนสิ้นอายุขัยก็นำไปปล่อยทิ้งตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จนนำมาสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

                   เมื่อ "คม ชัด ลึก" สืบค้นมูลเหตุจูงใจที่คนเลี้ยงปล่อยทิ้งปลาจระเข้จากอินเทอร์เน็ต พบว่า ทุกวันนี้มีผู้นิยมเลี้ยงปลาปากจระเข้น้อยลง และมีการประกาศขายต่อในราคาที่ถูกกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึง 10 เท่า อย่างปลาปากจระเข้ขนาดความยาว 0.7 เมตร ราคาประมาณ 1,000 บาท แต่ถ้า 1 เมตรขึ้นไปอยู่ที่ 1,500 บาท โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ตัวใหญ่ เลี้ยงไม่ไหว และน่ากลัว!!

                       “ปลาปากจระเข้เป็นปลาที่ได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงสัตว์น้ำประหลาดๆ มาก มีการนำเข้ามาจำหน่ายอยู่ตลอดเวลา แรกๆ ราคาตัวละหลายหมื่นบาท ผู้ที่มีเงินมักนำไปเลี้ยงโชว์ไว้ในตู้หรือไม่ก็นำไปโชว์ในงานต่างๆ เพราะเป็นสัตว์ที่มีความแปลกประหลาด แต่พอมันโตขึ้นจากความแปลก น่ารักกลายเป็นความน่ากลัว ตัวใหญ่ไม่มีที่เลี้ยง คนก็นำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะยิ่งตอนน้ำท่วมเริ่มมีคนพบตามแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น" คณิต เสริมศิริมงคล ผอ.สวนสัตว์พาต้ากล่าว

                   คณิต ขยายความว่า ปลาจระเข้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "อัลลิเกเตอร์" คนทั่วไปเรียกว่า "ปลาปากไอ้เข้" เนื่องจากรูปลักษณะของมัน ซึ่งปลาชนิดนี้มีถิ่นอาศัยแถบลุ่มน้ำอะเมซอน, มิสซิสซิปปี, บราซิล และเม็กซิโก เป็นปลาตระกูลเดียวกันกับ "ปลาปิรันย่า" ซึ่งมีอายุยืนยาว สามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ดี ชอบกินปลาเล็กๆ กบ และอาหารสด อย่างเนื้อหมู เนื้อปลา เป็นต้น ปลาชนิดนี้ค่อนข้างรักสงบ ไม่ก้าวร้าว สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงได้ หรือชนิดเดียวกันได้ หลายๆ ตัว เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวเฉลี่ย 3 เมตร น้ำหนักราวๆ 127 กิโลกรัม

                   "การเลี้ยงสัตว์เป็นเรื่องที่ดี จะช่วยขัดเกลาให้เป็นคนใจเย็นโอบอ้อมอารี แต่หากเลี้ยงสัตว์เป็นแฟชั่น จะเกิดผลเสียตามมา จึงควรที่จะปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ รวมถึงออกมาตรการมาดูแลในเรื่องนี้ เช่น เปิดศูนย์ให้ความรู้หรือรับสัตว์ที่เจ้าของไม่ต้องการแล้วนั้นเพื่อนำไปเลี้ยงดูแลต่อไป" ผอ.สวนสัตว์พาต้าแนะนำ

                     ด้าน “สมเกียรติ พงษ์ศิริจันทร์” ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานี กล่าวว่า ปลาปากจระเข้ถือว่าเป็น "สัตว์ต่างถิ่นที่รุกราน" (invasive  alien  species-IAS) คุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนระบบนิเวศในประเทศไทย ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของพืชและสัตว์ต่างถิ่น ก็สร้างปัญหาให้สิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นอาจทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ และระบบนิเวศเสียสมดุล ขณะเดียวกันมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการขนส่ง การค้า การท่องเที่ยวที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ทำให้มีผู้นำเข้าสัตว์และพืชต่างถิ่นเข้ามาจำนวนมาก โดยไม่คิดถึงผลเสียระยะยาวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ปัญหาปลาซักเกอร์, หอยเชอร์รี่ เป็นต้น

                "ปลาปากจระเข้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ จะมากินปลาท้องถิ่นของเรา ทำลายวงจรชีวิตของสัตว์พื้นถิ่นเรา สุดท้ายพืชและสัตว์ท้องถิ่นจะสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย จำเป็นต้องให้ความรู้ผู้เลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น แม้แต่ปลานิลหลายคนก็ไม่รู้ว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ซึ่งไม่ควรปล่อยลงในน้ำที่เป็นแหล่งน้ำเปิด ต้องเลี้ยงในบ่อปิด และก็โชคดีที่ปลานี้เป็นที่นิยมในการบริโภค ไม่เหมือนปลาซักเกอร์ หรือปลาปากจระเข้ รวมถึงหอยเชอร์รี่" สมเกียรติกล่าว

               อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวนี้ รัฐบาลมีมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดพืชและสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้ โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ฯลฯ เฝ้าระวังชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ทั้งที่เข้ามาแล้วและยังไม่ได้เข้ามาในไทยอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว แต่หากผู้นำเข้าและผู้เลี้ยงยังไร้ความรับผิดชอบ ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้


ระวังสัตว์ร้ายมากับน้ำท่วม


               นอกจากปลาปากจระเข้แล้วสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมต้องระวังคือสัตว์ร้ายสารพัดชนิดที่มากับกระแสน้ำ โดย รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า สัตว์ที่มากับน้ำท่วมที่พบมากและเป็นอันตรายที่สุด คือสัตว์มีพิษจำพวก ตะขาบ แมงป่อง และงูสารพัดชนิด เช่น งูเห่า งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูเหลือม และงูหลาม ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์เลือดเย็นต้องการความอบอุ่น เมื่อพื้นที่ถูกน้ำท่วมจะหนีน้ำขึ้นไปซุกอยู่ตามสถานที่ต่างๆ

               "สัตว์มีพิษจำพวกงู ตะขาบ และแมงป่อง เป็นสัตว์เลือดเย็นต้องการความอบอุ่น เมื่อน้ำท่วมจะหนีน้ำไปซุกอยู่ตามผ้าห่ม ที่นอน หรือรองเท้า ซึ่งผู้ประสบภัยต้องระวัง ควรจะสำรวจพื้นที่ให้ละเอียดโดยอาจจะใช้ไม้ขนาดเหมาะมือคุ้ยเขี่ย ตามที่นอน หมอน มุ้ง รองเท้า รวมถึงทางเดินและจุดซอกหลืบต่างๆ เพื่อให้มันตกใจหนีไป" รศ.นสพ.ปานเทพกล่าว

                คณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความว่า โดยปกติสัตว์มีพิษจะกลัวไฟ แต่กรณีเหตุการณ์น้ำท่วมสัตว์ต้องการความอบอุ่น อาจเข้าใกล้กองไฟได้ ซึ่งผู้ประสบภัยต้องระมัดระวัง ทุกครั้งที่จะขยับร่างกายไปไหนในพื้นที่น้ำท่วมควรจะส่งเสียงดังเพื่อให้สัตว์มีพิษหนีพ้นไปจากพื้นที่นั้นๆ ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์ทำร้าย แต่หากเลี่ยงไม่ได้ถูกสัตว์มีพิษกัดห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้พิษกระจายเข้าสู่ร่างกายเร็ว และจะเสียชีวิตเร็วขึ้น

               ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกสัตว์มีพิษร้ายแรงกัดควรเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด ใช้เชือกหรือวัสดุอื่นใดมัดเหนือบาดแผลเพื่อป้องกันไม่ให้พิษกระจาย และต้องรีบส่งแพทย์เพื่อรักษาอาการโดยเร่งด่วน

               สัตว์อีกชนิดที่มีโอกาสพบได้ในพื้นที่น้ำท่วมคือ จระเข้ ซึ่ง รศ.นสพ.ปานเทพบอกว่า ที่พบมากส่วนใหญ่จะเป็นจระเข้เลี้ยง หลุดจากฟาร์ม ซึ่งจะไม่ค่อยดุร้าย เจอคนแล้วจะหนีทันที วิธีการป้องกันการถูกจระเข้ทำร้ายคือ ทุกครั้งก่อนลงน้ำควรจะใช้ไม้ตีน้ำ หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดเสียงดังก่อน แต่จะเป็นการดีที่สุดหากสามารถหลีกเลี่ยงการลงน้ำได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ