Lifestyle

ศมส.ปั้นเยาวชนสร้างสื่อพหุวัฒนธรรมลดสังคมอคติชาติพันธุ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

...

นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.)  กล่าวว่า ในปี2561 - 2565 ศมส. กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานด้านชาติพันธุ์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยการพัฒนากระบวนการสื่อสารให้สาธารณชนได้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์และลดอคติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญในฐานะที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมพหุวัฒนธรรมในอนาคต ดังนั้นศมส.จึงได้จัดโครงการการประกวดสร้างสรรค์สื่อโมชันกราฟฟิก( motion graphics) เพื่อความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์ ถือว่า เป็นมิติใหม่ของศมส.ที่จัดขึ้นเป็นครั้ง ภายใต้แนวคิดความเคารพ ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ อาหารการกิน ภาษาและวรรณกรรม และพิธีกรรมซึ่งเป็นหลักคิดพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ต้องให้ความเคารพในความแตกต่างและเห็นถึงคุณค่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

นายพีรพน กล่าวต่อไปว่า การประกวดสร้างสรรค์สื่อโมชันกราฟฟิก( motion graphics) เพื่อความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์ที่ศมส.จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2561 ที่ห้องสมุด สุข กาย ใจ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน ผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัล popular vote ไปครอง รวมมูลค่า 70,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ คือ ผลงานเรื่อง “อัวะเน้ง” โดยทีม Intimate นายวิธวินท์ ดิลกสัมพันธ์ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ นางสาวจิตาภา ตั้งศรีอู่ยา และนางสาวปาณิสรา ชูแก้ว ศิษย์เก่าวิทยาลัยนานาชาติ สาขาออกแบบมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานสื่อโมชั่นกราฟฟิกเทคนิคคอลลาจ (collage) สื่อถึงพิธีอัวะเน้ง (การทำผีการลงผี) เป็นการรักษาโรคที่ไม่รู้สาเหตุเพื่อเรียกขวัญที่ผีพาไปให้กลับคืนมาของชาวม้ง เพราะชาวม้งเชื่อว่าความสุขสูงสุดคือการมีร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งมียอดโหวตสูงสุดถึง 2,265 like

นายพีรพน กล่าวอีกว่า รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มูลค่า 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ เป็นผลงานของทีม Invisible Cage เรื่อง “ภาษาของเพศทางเลือก” โดยกลุ่มเยาวชนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นางสาวชนิกานต์ ศุกลปักษ์ นางสาววาริชชา เห็นชอบดี และนางสาวทิพย์สุดา เอื้ออนันต์ กล่าวถึงการใช้ภาษาเหยียดกลุ่มชายรักชาย เช่น สายเหลือง หรือ ถั่วดำ เป็นต้น สะท้อนอคติทางเพศที่ถูกส่งผ่านกันมาในสังคมที่เราอาจไม่เคยรู้สึกตัว ดังนั้นเมื่อเราปรารถนาความเคารพจากคนอื่น เราต้องเคารพเขาก่อน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 เงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศเป็นผลงานเรื่อง “LAW” โดยทีม Little Fox Production นายค้นพบ สุภาพร และนายนันทวัฒน์ บุญเลื่อน เยาวชนจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานกล่าวถึงวัฒนธรรมการกินลาบเลือดของชาวภูไทในพิธีกรรมเลี้ยงเจ้าปู่ถลา และมีการกินอาหารดิบในชีวิตประจำวัน ถ้าเราให้ความเคารพในวัฒนธรรมของคนที่อยู่ร่วมกันสังคมก็จะสงบสุข

“โครงการดังกล่าวจึงใช้แนวคิดทั้ง 3 ด้านเป็นโจทย์ให้กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ผลงาน สร้างความตระหนักให้คนในสังคมเห็นถึงความสำคัญและเคารพในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อันเป็นพื้นฐานของการลดอคติทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชามานุษยวิทยา และยังมีผลงานของเยาวชนอีก 3 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก คือ เรื่อง “ลาบหมาน้อย” โดยทีม One Homeศิษย์เก่าจากคณะวิทยาการสารสนเทศและคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลงานเรื่อง “Happy birthday สืบชะตาฮาเฮ” โดยทีม #0169 ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผลงานเรื่อง “การละหมาด” โดยทีม Project 99 น้องเล็กจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์ 2) ซึ่งศมส.จะเผยแพร่ผลงานดังกล่าวต่อสังคมต่อไป.”ผอ.ศมส.กล่าว

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ