Lifestyle

เปิดประตู...จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

....

กระทรวงวิทย์ฯ จัดเสวนา “เปิดประตู...จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เดินหน้าสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และผู้เกี่ยวข้องใช้ในการปฏิบัติงาน

26 มิถุนายน 2561 - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนา “เปิดประตู...จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ  รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นประธานในพิธีเปิด และมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ สมาชิกของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรมมากล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การเชื่อมโยงจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในบริบทโลกสู่บริบทไทย”

นพ.ปฐม  สวรรค์ปัญญาเลิศ  รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โครงการเสวนา “เปิดประตู...จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศปท.วท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการการส่งเสริมคุณธรรม ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การวางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมใน วท. ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้กับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นิสิต นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง โดยนำหลักคุณธรรม จริยธรรม ของวิทยาศาสตร์มาใช้ในการปฏิบัติงานและดำเนินชีวิตประจำวัน และเพื่อเปิดโอกาสในการสื่อสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านคุณธรรมและจริยธรรมในวิทยาศาสตร์ ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกระดับและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง  อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผลักดันระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรม ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังคนและเยาวชนในทุกมิติ รวมถึงสร้างกลไกในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีศักยภาพควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนัยเชิงจริยธรรม กฎหมายรวมถึงสังคมของการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องมีจริยธรรมทางวิชาชีพ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนและปฏิบัติงานในทางที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ 

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ สมาชิกของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม กล่าวว่า แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ายังมีหลายประเด็นที่ต้องระมัดระวังปัญหาที่จะตามมา นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงต้องมีความรับผิดชอบที่จะต้องพยายามทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมเพื่อที่จะชี้ประเด็นผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางป้องกันแก้ไขภัยหรือการจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมในประชาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย จึงถือว่าการมีแนวทางดำเนินงานด้านจริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับประเทศไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อประเทศ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดทั้งโอกาสในการพัฒนาประเทศให้รุดหน้า และอีกด้านหนึ่งอาจเกิดความเสี่ยงจากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้การมีกลไกในการดำเนินงานด้านนัยเชิงจริยธรรม กฎหมายและสังคม มาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นประเด็นที่ละทิ้งไม่ได้ สวทน. จึงให้ความสำคัญกับการสร้างธรรมาภิบาล (Good governance) ในระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย สนับสนุนการสร้างกลไกการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านนัยเชิงจริยธรรม กฎหมายและสังคม หรือ Ethical Legal Social Implications (ELSI) ระหว่างหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบ วทน. (ELSI mechanism and platform promotion) รวมถึงสร้างความตระหนัก (Awareness) และความมีส่วนร่วมของสังคม (Public engagement) การเตรียมตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับไวของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี (Dynamism) ตลอดจนการปรับตัวเชื่อมโยงการดำเนินงานทางด้าน ELSI ของประเทศไทยต่อเวทีโลก (Thailand as global partnership) นอกจากนี้ สวทน. ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น โดยแบ่งการทำงานออกเป็น โครงการจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยใน 5 โครงการ คือ 1. โครงการ “การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีจีโนม” 2. โครงการ “การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ Big Data” 3. โครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาจริยธรรมการวิจัยและระบบการประเมิน: ตอบสนองความท้าทายในการพัฒนาระบบการวิจัยของประเทศ” 4. โครงการ “การศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทย กลุ่มจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ 5. โครงการ “การสื่อสาร การปรึกษา และการมีส่วนร่วมผ่านสื่อและศิลปะ: มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยการดำเนินงานทั้งหมดข้างต้นจะเชื่อมโยงกับการเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO: IBC) การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (11th Session of the World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology:  COMEST) และการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วย นัยทางจริยธรรม กฎหมาย และสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(Conference on Ethical, Legal and Social Implications (ELSI) of Science and Technology) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สวทน. สวทช. ศลช. และกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 1 – 5 กรกฎาคม 2562

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีจีโนม กล่าวว่า จากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีจีโนม ที่นำไปสู่การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาโรค ตลอดจนการคัดเลือกเพศ/พันธุกรรมของบุตร ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงสังคมในมิติที่หลากหลาย ซึ่งนำไปสู่ประเด็นสำคัญทางด้านจริยธรรมต่าง ๆ ที่ต้องดูแล เช่น การดูแลรักษาความลับและการนำข้อมูลทางพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ การอ้างเทคโนโลยีในการโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง ด้วยเหตุนี้ จึงควรตระหนักถึงการดูแลให้การดำเนินการบริการสุขภาพต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีจีโนมเป็นไปอย่างมีจริยธรรม การคำนึงถึงช่องว่างของกฎหมายไทย ต่อการโฆษณาสินค้าและบริการการตรวจพันธุกรรม กลุ่มเทคโนโลยี ยีน เซลล์ และการปรับแต่งชีวิตด้วย
 
ดร.นเรศ  ดำรงชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ในฐานะในฐานะหัวหน้าโครงการการศึกษาเชิงลึกประเด็นจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับประเทศไทยกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ ข้อมูลขนาดใหญ่  (Big Data) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ Big data หุ่นยนต์ ในประเทศมีวิวัฒนาการ ความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญโดยเฉพาะผลกระทบเชิงจริยธรรมด้านการใช้งานและการพัฒนา เพื่อให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ไม่เกิดความเลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลอื่นๆ การศึกษาทำความเข้าใจและการสื่อสารต่อสังคมให้เกิดการพูดคุย เพื่อหาแนวเกี่ยวกับจริยธรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย

ศ.ดร.โสรัจจ์  หงศ์ลดารมภ์ ภาคปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาจริยธรรมการวิจัยและระบบการประเมิน: ตอบสนองความท้าทายในการพัฒนาระบบการวิจัยของประเทศ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงกดดันให้อาจารย์และนักวิจัย ตีพิมพ์ผลงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ในบางครั้งอาจารย์และนักวิจัยอาจต้องหาหนทางที่จะตีพิมพ์ผลงานให้ได้ ซึ่งทำให้อาจเกิดการหาทางลัดในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ตีพิมพ์ผลงานได้ การหาทางลัดดังกล่าวมีแนวโน้มนำไปสู่การทำผิดจริยธรรมทางการวิจัย การเสวนาครั้งนี้จึงมุ่งหวังในการวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมวิชาการและการวิจัย พร้อมเสนอแนวทางในการป้องกันและแก้ไขเพื่อพัฒนามาตรฐานงานวิจัยในประเทศไทยต่อไป

ข่าวโดย : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)  

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ