Lifestyle

ของรัก ของหวง หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

....

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เปิดเวทียิ่งใหญ่ดึงนักสะสมชั้นนำของเมืองไทย นำงานศิลปหัตถกรรมล้ำค่า หาดูยาก เผยแพร่ให้ร่วมชื่นชมในงานเสวนา “ของรักของหวง หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน” มุ่งให้นักสะสมได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน เป็นแรงผลักดันให้เกิดทัศนคติ  ในความนิยมของกลุ่มผู้ริเริ่มสะสมงานศิลปหัตถกรรม และสร้างแรงบันดาลใจผ่านชิ้นงานของผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่าง  จนเกิดการนำไปพัฒนาเป็นผลงาน Masterpiece หรือปรับประยุกต์เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดขยายผลองค์ความรู้เชิงนวัตศิลป์ต่อไป

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT  มีบทบาทในด้านการส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรม และส่งเสริมการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์สู่ความร่วมสมัย และเชิงพาณิชย์ ได้เห็นถึงความสำคัญการถ่ายทอดองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึงซึ่งภูมิปัญญา ทั้งศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง และเทคนิคเชิงช่างชั้นสูงที่มีการสะสมไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนักสะสม จึงได้จัดงานเสวนาและนิทรรศการ “ของรัก ของหวง : หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนักสะสม ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปหัตถกรรม ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ได้มีโอกาสพบปะได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายทอดแรงบันดาลใจ และแบ่งปันประสบการณ์ใน งานศิลปหัตถกรรมร่วมกันระหว่าง  นักสะสมชั้นนำหลากหลายวงการ รวมทั้งนักสะสมในวงการบันเทิง ดารานักแสดง ร่วม 30 ท่าน กว่า 200 ชิ้น โดยเฉพาะผลงานที่เป็นฝีมือของช่างไทยรุ่นบรรพบุรุษนับตั้งแต่อดีต ผลงานบางชิ้นมี อายุเกินกว่า 200 ปี  เช่น เครื่องเงินสลักดุนเทคนิคเชิงช่างชั้นสูงตามแบบราชสำนักนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  เครื่องทองโบราณ เครื่องถม  พระหินแกะสลัก เครื่องทองลงยาสี  เครื่องประดับทองโบราณ โถปริกกระเบื้องเบญจรงค์สมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์  เครื่องเขินแบบศิลปะล้านนาดั้งเดิมและศิลปะเมียนมา (พม่า) งานประติมากรรม งานปั้นชาโบราณแบบจีน ผ้าทอหลายเทคนิค  ชุดชนเผ่าจากหลากหลายวัฒนธรรม เครื่องจักสานย่านลิเภาอายุนับ 100 ปี เครื่องประดับมุก  ขันลงหิน งานผ้าที่ใช้ในราชสำนักสยาม ผ้าแพรเบี่ยงในตำนานที่มีอายุกว่า 200 ปีที่สูญหายไปจากวิถีชีวิตแล้ว  เครื่องถ้วยเบญจรงค์โบราณแบบจีนและแบบสมัยรัชกาลที่ 4 เครื่องลงรักสมัยเจ้าเมืองอุบลและเครื่องลงรักเขมรโบราณ อายุกว่า 100 ปี บาตรโบราณในตำนานบาตรบุบ้านบาตร เป็นต้น

ในงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนักสะสมงานหัตถกรรมชั้นนำระดับประเทศ ที่จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ภูมิใจ บุรุษพัฒน์  ผู้บริหารร้านอาหารเฮือนเพ็ญ และโรงแรมเฮือนเพ็ญ จังหวัดเชียงใหม่ สะสมงาน เครื่องเขินแบบศิลปะล้านนา และศิลปะเมียนมา (พม่า) ที่อาจกล่าวได้ว่ามีสะสมไว้มากที่สุด ท่านหนึ่งของประเทศไทย คุณกฤษณ์ โรจนเสนา เจ้าของโรงแรมบ้านกลางเวียง เชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ มนัท สูงประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งสองท่านสะสมทั้งเครื่องทองโบราณ เครื่องถม และเครื่องเงินตามแบบราชสำนัก นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะหาชมได้ยากยิ่งนัก และนักสะสมคนรุ่นใหม่ในวงการบันเทิงอย่างเขมนิจ จามิกรณ์  หรือแพนเค้ก ที่ชื่นชอบในงานผ้าทอมือจนกลายเป็นความรักและสะสมผ้าทอของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ เรื่อยมา 

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลระดับช่างฝีมือที่ SACICT เชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม นำผลงานสะสม ของรัก ของหวงมาร่วมจัดแสดง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ฝีมือเชิงช่างด้วย อาทิ  ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2554 ผู้สะสมงานผ้าราชสำนัก  และงานหัตถกรรมสะสมหลากหลายชนิด นับตั้งแต่อดีตสมัยกรุงศรีอยุธยา อายุนับ 200 ปี ครูมีชัย  แต้สุจริยา  ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559  ในครั้งนี้จะนำผลงานสะสมอย่างเครื่องลงรักสมัยเจ้าเมืองอุบล และเครื่องลงรักเขมรโบราณ  อายุกว่า 100 ปี มาร่วมจัดแสดงครูอรอนงค์ วิเศษศรี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 กับงานผ้าทอลาวครั่งโบราณที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ อายุกว่า 200 ปี

นางอัมพวันฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสะสมวัตถุสิ่งของที่มีความหลากหลายอาจเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่มีความแตกต่างกันไป บางคนเกิดจากความชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยส่วนตัวมาตั้งแต่ในวัยเด็ก หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันที่เห็นบรรพบุรุษเก็บสะสม สิ่งเหล่านี้จึงผูกพันอยู่ในวิถีชีวิตเรื่อยมา นักสะสมหลายคนอาจได้รับวัตถุสิ่งของเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นแล้วก็เก็บรักษากันสืบต่อไป งานสะสมแต่ละชนิดแต่ละประเภท อาจมีทั้งที่ไม่มีค่า ไม่มีราคา แต่มีคุณค่าทางจิตใจ และเป็นความผูกพันของผู้สะสม  ไปจนถึงรายการของสะสมที่มีค่า  ที่เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่า จนถึงที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้  และสิ่งของสะสมเหล่านี้ย่อมเกิดเป็นของรัก ของหวง ของนักสะสมทุกคนที่มีอยู่ในครอบครองทั้งสิ้น  นักสะสมเหล่านี้มีความสุขกับการได้ชื่นชมกับผลงานสะสมของตนเอง และมีความสุขที่ได้แสวงหาสิ่งของมาสะสมเพิ่มเติม และหวังที่จะให้สิ่งของเหล่านี้ตกเป็นมรดกตกทอด ถึงมือของรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไปในภายภาคหน้า มีนักสะสมอยู่ไม่น้อยที่สะสมสิ่งของมีค่าไว้เป็นของรัก ของหวงในลักษณะเป็นส่วนตัว โดยไม่ได้เปิดตัว แต่เมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมก็พร้อมที่จะนำออกมาเผยแพร่ให้ผู้คนได้ชม เพื่อประโยชน์ในการศึกษา หาความรู้ และร่วมภาคภูมิใจไปด้วยกัน

SACICT มุ่งหวังให้เวทีนี้เป็นโอกาสให้นักสะสม หรือผู้ที่กำลังจะผันตัวเองมาเป็นนักสะสมทุกรุ่น ผู้ที่มีความ   ชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ ได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์การสะสมระหว่างกัน เป็นแรงผลักดันให้เกิดทัศนคติในความนิยมของกลุ่มผู้ริเริ่มสะสมงานศิลปหัตถกรรมเสมือนเป็นการสืบสานต่อเส้นทางงานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ทำให้ได้มีโอกาสเห็นฝีมือ เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานของบรรพชนที่มีมาแต่โบราณ  ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจหรือแนวคิดผ่านชิ้นงานเหล่านี้ของผู้ที่มีทักษะฝีมือเชิงช่าง เกิดการนำไปพัฒนาเป็นผลงาน   Masterpiece  หรือปรับประยุกต์เป็นผลงานเชิงสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดขยายผลองค์ความรู้เชิงนวัตศิลป์ต่อไป

นิทรรการแสดงผลงาน “ของรัก ของหวง : หัตถกรรมล้ำค่า รักษาไว้ให้ถึงลูกหลาน” จัดแสดงระหว่าง วันที่ 15 พฤษภาคม ถึง วันที่ 3 มิถุนายน 2561 ระหว่างเวลา 8.30 – 16.30 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 1289 หรือ www.sacict.or.th , www.facebook.com/sacict

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ