Lifestyle

"ข้อมูลชุมชน" ก้าวเริ่มสำคัญ ของการขับเคลื่อนชุมชนสุขภาวะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

....

หากย้อนถามถึงหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จจากการขับเคลื่อนงานชุมชนน่าอยู่ตลอดกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ที่ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 2,500 แห่งและภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนนั้น ใครจะคิดว่าเริ่มต้นที่การมี “ข้อมูล” ในก้าวแรก

ภายใต้การขับเคลื่อน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์จัดระบบพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ยุทธศษสตร์การพัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ และยุทธศาสตร์การบูรณาการ ทาง สสส. ยังมีการนำเครื่องมือมาช่วยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย เครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ เครื่องมือสำหรับการพัฒนานวัตกรรม และเครื่องมือสำหรับการประเมิน

 

ซึ่งแต่ละเครื่องมือดังกล่าวมุ่งเน้นให้ชุมชนต้องเป็นผู้ “ลงมือ” เอง เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนตนเอง

เพราะเชื่อว่าการสร้างการเรียนรู้อย่างยั่งยืนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ปัญหา สถานการณ์ รวมถึงรู้ศักยภาพของชุมชนเอง นำไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนในชุมชน และปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาความแข็งแกร่งในชุมชน

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาะชุมชน สสส. เอ่ยว่าชุมชนต้องมีความเข้าใจตัวเองว่ามีศักยภาพหรือทุนในชุมชนมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งที่มาของความเข้าใจต้องเริ่มที่การ “สำรวจ” ตัวเอง เสมือน “รู้เขารู้เรา” ชุมชนจึงควรสำรวจศักยภาพและทุนของตนเองในด้านต่างๆ ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อนำมาซึ่ง “ข้อมูล” เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนงานในลำดับต่อไป

เหตุผลดังกล่าวทำให้ สสส. จึงนำเครื่องมือที่เรียกว่า “การทำวิจัยชุมชน” มาถ่ายทอดแก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาชาวเครือข่ายชุมชนน่าอยู่ทุกคนต้องรู้จักและคุ้นเคยกับ “RECAP” และ “TCNAP” เครื่องมือข้อมูลวิจัยชุมชนและข้อมูลสำรวจปัญหาที่ทางสำนัก 3 ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำขึ้นอยู่แล้ว

ซึ่งการทำวิจัยชุมชนเป็นหนึ่งในพื้นฐานและข้อบังคับที่สมาชิกเครือข่ายชุมชนน่าอยู่ต้องเรียนรู้ โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้รู้จักใช้เครื่องมือเพื่อสร้างเรียนรู้ภายในชุมชน หรือทำข้อมูลด้วยตัวเอง  ที่สำคัญจะต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญ

 “สิ่งที่ชุมชนจะได้คือการรับทราบข้อมูลของตัวเอง เช่นว่าเขาจะรู้ผู้สูงอายุมีเท่าไหร่ มีผู้ป่วยติดเตียงเท่าไหร่ หากไม่มีคู่มือนี้ การทำงานขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นสุขภาวะของทั้ง สสส.และชุมชนก็ยากสำเร็จ เพราะเมื่อเขาเข้าไม่ถึงข้อมูล เขาก็จะไม่มีความเข้าใจชุมชนตัวเอง ก็จะกลายเป็นการพัฒนาที่ผิวเผิน ผลที่ออกมาคือเราจะได้แค่กิจกรรม (Activity Base) แต่ถ้ามีข้อมูลทุกอย่างแล้ว ชุมชนสามารถพัฒนากระบวนการดำเนินการไปสู่การอย่างเป็นระบบคิด หรือ Systematic ได้ ซึ่งมีความยั่งยืนกว่า”

ไม่เฉพาะการทำข้อมูลเป็น แต่ทางเครือข่ายฯ ยังมีการเสริมศักยภาพให้ชุมชนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ร่วมกับข้อมูลวิชาการเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ

“จากการสนับสนุนให้ชุมชนทำการวิจัยชุมชน ทำให้เราเห็นภาพสถานการณ์ชุมชนในเครือข่ายเราโดยตลอด เช่น ปีที่แล้วเรามีข้อมูลจากชุมชนได้สองล้านกว่าครอบครัว แต่มาปีนี้เพิ่มเป็นสองล้านห้าครอบครัว มีประชากรเพิ่มเป็นแปดล้านคนจากหกล้าน

หรือจากการทำข้อมูลว่ามีผู้สูงอายุติดสังคมมากขึ้น ซึ่งมันอาจสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานของชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เราได้ผลด้วย เพราะเราสามารถเปลี่ยนผู้สูงอายุติดเตียงให้กลายเป็นพลังสังคม พลังของชุมชน ลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสา ซึ่งบางตำบลคนทำงานเป็นผู้สูงอายุร้อยละ95 เป็นพลังในการจัดการขยะ เหล่านี้จะเป็นแนวทางของเราในการวางยุทธศาสตร์การทำงาน ในการปรับเปลี่ยนกลุ่มคนที่นอายุ 49-54 ซึ่งอีกสิบปีข้างหน้าจะกลายเป็นผู้สูงอายุจากภาระเป็นพลังได้อย่างไรบ้าง”

ดังนั้นเครื่องมือชุดแรกจึงมีความสำคัญมาก เพราะสามารถนำข้อมูลไปส่งเสริมกับเครื่องมืออื่นๆ ได้ เช่นชุมชนเอง

“ยกตัวอย่างถ้าหากชุมชนต้องการจะแก้ปัญหาโรคความดันโลหิตในชุมชน เขาต้องนำข้อมูลที่ตนเองมีมาชนกับข้อมูลเกี่ยวกับโรคในด้านวิชาการ เพื่อดูว่าควรมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรที่เหมาะสมกับบริบทของชุมขนตัวเอง”

เสียงสะท้อนจากผู้ที่ผ่านประสบการณ์ด้านการจัดทำวิจัยข้อมูลชุมชนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สมคิด ดิษฐ์พันลำ รองปลับเทศบาล ต.ท่าก้อน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เล่าว่า ที่ท่าก้อนในการจัดเก็บข้อมูลจะใช้องค์กรและคนในพื้นที่มามีส่วนร่วมในการทำงาน เพราะนอกจากสามารถเห็นสถานการณ์ของประชากรหลายมิติทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ นำไปสู่การแก้ปัญหา และเป็นเครื่องมือของผู้นำชุมชนในการทำงานแล้ว ยังช่วยทำให้บุคลากรในชุมชนมีโอกาสเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเอง และมองเห็นเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนแท้จริง 

“การจะไปจ้างคนเขาคงไม่ดีเท่ากับเราทำเองหรือลงมือเอง และเรานำมาใช้เอง เพราะส่งผลให้เรามีโอกาสพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในชุมชนเรา ตรงนี้แม้งานนี้จะเป็นงานนอกหน้าที่ แต่ผมมองว่าตอบโจทย์ท้องถิ่นโดยตรง เพราะเราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ เกิดนวัตกรรมและเชื่อมั่นในความรู้ที่องค์กรตัวเองมีได้”

ด้าน สุริยันต์ อยู่ล่าย ปลัดองคการบริหารส่วนตำบลนาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เสริมถึงแนวทางการทำข้อมูลในชุมชนตนเองว่าที่ชุมชนนาทอนก็เริ่มจากการบูรณาการและการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้ก้าวต่อไปง่ายขึ้น

“การมีข้อมูลชุมชนนอกจากช่วยตอบโจทย์การทำงานแล้ว การเป็นจุดเริ่มของการสร้างการมีส่วนร่วมที่ช่วยหนุนเสริมการดำเนินการด้านอื่นไปในทิศทางที่ดี”สุริยันต์กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ